รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ได้จัดประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองกาฬสินธุ์ (ด้านเหนือ) ที่โรงแรมริมปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจาก จ.กาฬสินธุ์ จะได้รับการพัฒนาระบบคมนาคม การเข้าถึงพื้นที่โดยรอบเมืองกาฬสินธุ์

ขณะเดียวกันขอให้พิจารณาออกแบบ กำหนดจุดกลับรถให้เพียงพอและเหมาะสม ออกแบบระบบระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ การออกแบบทางแยก ทางเชื่อมให้สะดวก ปลอดภัย สัญจรเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั้ง 2 ข้างทาง และเชื่อมโยงกับแนวเส้นทางที่เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ และการจัดกรรมสิทธิ์ การเวนคืน ขอให้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม เหมาะสม ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ

การสัมมนาครั้งนี้ ที่ปรึกษาได้เสนอแนวเส้นทางทางเลือกการพัฒนาโครงการจำนวน 3 เส้นทาง พบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วยกับแนวทางเลือกที่ 3 (เส้นสีฟ้า) ระยะทางประมาณ 20.729 กม. จุดเริ่มต้นโครงการแยกออกจากถนนทางหลวงหมายเลข 299 (ทล.12 เดิม) ช่วง อ.ยางตลาด-อ.เมืองกาฬสินธุ์ ประมาณ กม.ที่ 626+850 (ทล.12 เดิม) เป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับ ทล.299 และ ทล.12 แนวใหม่ เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) มีทิศทางไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่เขต ต.ลำพาน, ต.บึงวิชัย และ ตัดผ่าน ทล.227 ที่ กม.8+150 พื้นที่ ต.หนองกุง จากนั้นแนวเส้นทางมีทิศทางไปด้านทิศตะวันออก จนบรรจบกับถนน ทล.299 (ช่วง อ.เมืองกาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ) ประมาณ กม.ที่ 644+400 (ทล.12 เดิม) พื้นที่ ต.ไผ่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจุดสิ้นสุดโครงการ

ส่วนรูปแบบการพัฒนาจะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (รวม 2 ทิศทางการจราจร) ความกว้างช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร เกาะกลางแบบกดร่อง กว้าง 9.10 เมตร หรือรูปแบบติดตั้งราวกันชนคอนกรีตบริเวณเกาะกลาง มีจุดกลับรถแบบกลับรถแบบพื้นราบ และแบบลอดใต้สะพาน มีทางแยกต่างระดับ ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง เช่น ทางแยกจุดตัดกับ ทล.227 (ช่วง อ.เมืองกาฬสินธุ์-อ.สหัสขันธ์) และทางแยกจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมกับ ทล.299 (ช่วง อ.เมืองกาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ) รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย มีระบบระบายน้ำบริเวณแนวเขตทาง

หลังจากรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้แล้ว ที่ปรึกษาจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดแนวเส้นทางโครงการ ทางแยกตำแหน่งต่างๆ ทางต่างระดับ งานโครงสร้าง งานระบบระบายน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก ปลอดภัย และจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (กลุ่มย่อย) และจัดประชุมการมีส่วนร่วมประชาชน (ปัจฉิมนิเทศ) เพื่อเสนอรูปแบบและรายละเอียดรูปแบบลักษณะโครงการ แบบก่อสร้าง และงบประมาณค่าก่อสร้าง โครงการเบื้องต้นประมาณ 3,500 ล้านบาท

โครงการนี้เริ่มศึกษาเดือน ก.พ. 65-พ.ค. 66 ระยะเวลา 15 เดือน งบประมาณศึกษาสำรวจและออกแบบ 14.5 ล้านบาท เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะขอรับจัดสรรงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์) คาดแล้วเสร็จประมาณปี 67 จากนั้นจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ (เวนคืน) ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี คาดแล้วเสร็จประมาณปี 69 หลังจากนั้น จะขอรับงบประมาณในการก่อสร้าง คาดเริ่มก่อสร้างประมาณปี 70-73 ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี

พื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ มีอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูงมาก เนื่องจากมีการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวแนวโน้มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีความต้องการเดินทางในโครงข่ายทางหลวง และถนนในเขตเมืองกาฬสินธุ์สูงขึ้น และเป็นจังหวัดที่มี ทล.12 พาดผ่าน ซึ่งเป็นแนวเส้นทาง EWEC เชื่อมการขนส่งสินค้า การพัฒนาด้านเศษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง จากเมียนมา-ไทย-เวียดนาม จึงเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ เพื่อรองรับปัญหาการจราจรและขนส่งสินค้าในอนาคต
เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมรอบเมืองกาฬสินธุ์ให้มีความสมบูรณ์ เป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางระยะไกลใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง ไม่จำเป็นต้องผ่านเขตตัวเมืองกาฬสินธุ์ สะดวก รวดเร็ว ในการเดินทางและขนส่งสินค้าและลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองกาฬสินธุ์ รองรับอัตราการขยายตัว ด้านเศรษฐกิจ จากการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคต ตลอดจนเปิดพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงเส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวโซนด้านเหนือของเมือง เช่น เขื่อนลำปาว พิพิธภัณฑ์สิรินธร วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว) แหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาบ้านโพน และสะพานเทพสุดา เป็นต้น