นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ไออาร์พีซี เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางแผนการลงทุนช่วงระยะ 5 ปี (64-68) คาดว่า จะงบประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงการที่ชัดเจนแล้ว เช่น การพัฒนาโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท เพื่อลดปัญหามลภาวะและฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในระยะยาว ที่เหลือจะแบ่งใช้ในการร่วมทุนและเข้าซื้อกิจการใหม่ ๆ (เอ็มแอนด์เอ) รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของกิจการเดิมที่อยู่ในความดูแล ตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่วิสัยทัศน์ใหม่ของไออาร์พีซี ที่จะเริ่มใช้ในปี 64 การเป็นองค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว

นอกจากนี้ยังใช้เงินในการซ่อมบำรุงทั่วไปตามแผนบริหารงานในแต่ละปี คาดว่า จะสามารถกันผลักดันให้เป้าหมายกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา(อิบิดา) เติบโตได้ในระยะยาว ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของปี 64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 56,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาขายเพิ่มขึ้น 16% ตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อีบิทดา อยู่ที่ 8,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 491% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลกำไรสุทธิ อยู่ที่ 4,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1,213% จากฐานของปีก่อนที่ติดลบ
“ทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปียังมีความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิก-19 ที่ยังกดดันตลาดอยู่ จะส่งผลให้สินค้าที่ต้องอาศัยการส่งออกนั้นไม่เติบโตอย่างแน่นอนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ก็ต้องมาติดตามว่าบริษัทจะรักษาปริมาณการส่งออกให้เท่าเดิมได้หรือไม่ ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้พลังงานในช่วงสิ้นนี้จะมีได้รับอานิสงส์จากการกักตุนน้ำมันดีเซลของฝั่งประเทศซีกโลกตะวันออกเพื่อใช้ผลิตความร้อน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตามบริษัทจะสร้างสรรค์ด้านการใช้พลังงานนั้น โดยขยายผลธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคตทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น

รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางการแพทย์ และสุขภาพ ที่สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยโดยคนไทยเป็นรายแรกของประเทศ อาทิ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลนวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล หรือแม้แต่กลุ่มนวัตกรรมทางการเกษตร ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้