เมื่อวันที่ 20 ส.ค.เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับแรก ข้อมูล ณ วันที่ 20 ส.ค.พบว่า กรุงเทพฯ 4,181 ราย สมุทรสาคร 1,556 ราย ชลบุรี 1,348 ราย สมุทรปราการ 1,055 ราย นครราชสีมา 575 ราย สระบุรี 494 ราย ปทุมธานี 461 ราย นครปฐม 460 ราย พระนครศรีอยุธยา 453 ราย และระยอง 414 ราย ทั้งนี้คลัสเตอร์แต่ละจังหวัดจะมีบริบทที่แตกต่างกันโดยในบางแห่งพบการกลับมาระบาดของแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบกิจการด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราผู้ป่วยในระดับสีแดงที่รอเตียงมีจำนวนน้อยลงและวันรอเตียงจะพยายามทำให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกันให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ศูนย์พักคอยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 70 แห่ง จะพบว่ารองรับได้ 9,426 เตียง และจะเห็นว่าโรงพยาบาล 132 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จะเห็นว่าอัตราเตียงยังเต็มแต่ทิศทางจากนี้จะเห็นเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดงได้มากขึ้น ส่วนผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้านข้อมูล ณ วันที่ 18 ส.ค.มีหน่วยที่ช่วยดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านรวมทั้งสิ้น 262 หน่วย และทีมเดินเท้าทุกที่ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนให้ได้รับการตรวจ ATK โดยทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ หรือ CCRT รายงานตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-18 ส.ค.สามารถตรวจได้ 40,280 ราย พบผู้มีผลเป็นบวก 4,701 รายคิดเป็น 11.61 เปอร์เซ็นต์
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า มีรายงานว่ายังมีผู้ป่วยยังตกหล่น ผู้ป่วยรับบริการแยกกับตัวที่บ้านไม่ได้รับยาและอาหารตามที่ควรจะได้ ตรงนี้มีการตรวจสอบแล้ว กรุงเทพฯ รายงานว่าเป็นการที่ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในระบบข้อมูลการรอเตียง โดยมีการแก้ไขและผู้ป่วยได้รับการดูแลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความซับซ้อนของข้อมูล เนื่องจากผู้ป่วยติดต่อไป 2 แห่ง และทั้ง 2 แห่งก็ให้การดูแลทำให้ได้รับการดูแลและได้ยาซ้ำซ้อน โดยทุกหน่วยงานได้รับฟังข้อเสนอแนะและจากพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับระบบโทรศัพท์เบอร์โทร. 1330 โดยแต่ละเขตในกรุงเทพฯ เพิ่มสายด่วนอีก 50 เบอร์ โดยแต่ละเบอร์จะมีคู่สายเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พยายามมอนิเตอร์การโทรศัพท์พบว่ามีประชาชนโทรศัพท์ประมาณวันละ 4,000-5,000 สาย