นับจากนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่อึดใจ ใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนศักราชจากปี “เสือ” ย้ายก้าวเข้าสู่ปี “กระต่าย “ที่หลายฝ่ายประเมินอุณหภูมิการเมืองไทยเต็มไปด้วยฉากร้อนแรง

ตามท้องเรื่อง รัฐนาวา ภายใต้การถือหางเสือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดครบวาระบริหารประเทศ 4 ปี วันที่ 23 มี.ค. 2566 จากนั้นทุกองคาพยพต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

หากเปิดปฏิทินการเมืองนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ฉากที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นเต็มสองตา มีอย่างน้อย 3 ฉากสำคัญ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อทิศทางอนาคตการเมืองไทย

(1) เรื่องแรก ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 พรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบไม่ลงมติ ภายใต้ชื่อยุทธการ “ถอดหน้ากากคนดี” ล็อกเป้าถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะ รวบรวมความล้มเหลวนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน 12 ข้อของรัฐบาล

เปรียบเสมือนเปิดแผลประจานท่านผู้นำ ก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง เนื่องด้วยพรรคเพื่อไทย รู้ดีคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงอย่างต่อเรื่อง

สะท้อนจากผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส” ครั้งที่ 4/2565 พบ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ในนามหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี มากที่สุด ร้อยละ 34.00 ทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ อันดับสอง ที่ได้รับการสนับสนุน ร้อยละ 14.05

(2) เรื่องสอง ช่วงหลังปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ และ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะนั่งประธานพรรค และนั่งตำแหน่งประธานซูเปอร์บอร์ด ทำหน้าที่บัญชาการสู้ศึกเลือกตั้ง ภายใต้กติกาบัตรสองใบ และสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100

โดยเงื่อนไขสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯ สมัยที่สาม เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบด้วย (1) พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้ ส.ส. ขั้นต่ำ 25 คน ถึงมีสิทธิเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (2) ต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ จำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน และ (3) ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมรัฐสภา มากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกัน คือ มากกว่า 375 เสียง จาก 750 เสียง

(3) เรื่องที่สาม เบื้องต้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำปฏิทินเลือกตั้ง กรณีรัฐบาลประยุทธ์ ลากยาวอยู่ทำงานจนครบวาระ 4 ปี วันที่ 23 มี.ค. 2566 การเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เทคนิคประกาศยุบสภาในช่วงใกล้ครบวาระ การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566

ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ หลังปิดหีบเลือกตั้ง กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้งภายในกรอบ 60 วัน จากนั้น ภายใน 15 วัน ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนเปิดประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ไม่ได้เขียนกำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับหากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี รักษาการไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดข้างต้นคือ 3 ฉากอนาคตการเมืองไทย บทสรุปเป็นเช่นไร ต้องตามต่อในปีกระต่าย 2566.