เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 ว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ได้เชิญ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา และตน เข้าร่วมประชุมหารือถึงมาตรการรองรับผู้เดินทางระหว่างประเทศ ตามที่มีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา
โดยกระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ก่อนที่จะมีการระบาดโควิด-19 ข้อมูลจำนวนผู้เดินทางจากประเทศจีนเข้าประเทศไทย สูงถึงปีละ 10 ล้านคน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการจำกัดการเดินทาง และล่าสุดเมื่อรัฐบาลจีน ประกาศผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศแต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ จึงคาดการณ์ว่า ระยะแรกจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยในลักษณะทยอยเข้ามาในแต่ละเดือน เพราะจะเป็นการเดินทางด้วยตนเอง ไม่ใช่ลักษณะการเดินทางผ่านทัวร์ท่องเที่ยว จึงมีเวลาตั้งตัว โดยตัวเลขที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. คือ จำนวน 6 หมื่นคน 9 หมื่นคน และ 150,000 คน ตามลำดับ หรือประมาณ 5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ประชากรในประเทศจีนได้รับวัคซีนป้องกันโควิดในเปอร์เซ็นต์สูง คือ 2 เข็มแล้ว 90% และ 3 เข็ม 58% หากติดเชื้อมักจะป่วยไม่รุนแรง ขณะเดียวกัน สายพันธุ์โควิดที่ระบาดในประเทศจีน ก็เคยพบในไทย อาทิ สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.5 ที่เคยระบาดในประเทศไทยในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า ปัจจุบันสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยเป็น BA.2.75 แล้ว ทั้งนี้ สธ. จะได้นำข้อเสนอในที่ประชุมมาพิจารณาปรับเป็นแนวทางเพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบทุกมิติ ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจสังคม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ทางด้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่ สธ. จะเสนอในที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 5 ม.ค. 66 ประกอบด้วย 1.ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนจะต้องมีประวัติการรับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยคนละ 2 เข็ม 2.ผู้เดินทางทุกสัญชาติที่มีต้นทางมาจากประเทศจีน จะต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 ส่วนคนไทยสามารถใช้สิทธิการรักษาในประเทศได้จาก 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 3.มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเอทีเค (ATK) เป็นอย่างน้อย ผลเป็นลบก่อนเดินทางถึงไทย 48 ชั่วโมง และ 4.ขอความร่วมมือผู้เดินทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคจะปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง ค้นหาโรคติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง ด้วยการสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ในผู้เดินทางเข้าประเทศ ณ สนามบินระหว่างประเทศ ไปจนถึงการเฝ้าระวังการติดเชื้อในจังหวัดท่องเที่ยว สถานที่เสี่ยงและกลุ่มนักท่องเที่ยว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า คำแนะนำของประชาชนในประเทศ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเข้าไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด 2.กลุ่มเสี่ยง 608 จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยคนละ 4 เข็ม และ 3.หากมีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ ให้คัดกรองตนเองด้วยเอทีเค กรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อย สามารถรับประทานฟ้าทะลายโจร และยาตามอาการ สังเกตอาการอยู่ที่บ้าน หากมีอาการป่วยปานกลาง สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลได้.