สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ว่า เอกสารแนวปฏิบัติ ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงศึกษาธิการจีนร่วมกับหน่วยงานอีก 12 แห่ง ระบุข้อกำหนดหลายรายการ เช่น โปรแกรมกวดวิชานอกระบบ ไม่ควรมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับระเบียบของโรงเรียน
ขณะที่ชั้นเรียนเพื่อการกวดวิชาและช่วงเวลาเรียน ไม่ควรทับซ้อนกับเวลาเรียน ของโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาในท้องถิ่น พร้อมกำหนดด้วยว่า การกวดวิชาแบบออนไซต์ควรจบไม่เกินเวลา 20.30 น. ขณะที่หลักสูตรออนไลน์ไม่ควรจบเกินเวลา 21.00 น.
แนวปฏิบัติกำหนดด้วยว่า สถาบันการศึกษานอกระบบ ห้ามเรียกเก็บค่าเรียนสำหรับช่วงเวลาเรียนนานเกินกว่า 3 เดือน หรือสำหรับการเรียนนานเกิน 60 ชั่วโมง หรือเป็นจำนวนเงินมากกว่า 5,000 หยวน (ราว 24,800 บาท) ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินแบบก้อนเดียว จ่ายผ่านการเติมเงิน หรือการเติมจำนวนครั้งในบัตร
นอกจากนี้ พนักงานของสถาบันกวดวิชาจำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาระดับวิชาชีพหรือมีประกาศนียบัตรรับรองคุณสมบัติทางวิชาชีพ อีกทั้ง ครูที่ทำงานในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาในระบบ จะไม่ได้รับอนุญาตให้รับจ้างทำงานให้กับสถาบันนอกระบบเหล่านี้
แนวปฏิบัติเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทของการศึกษาในโรงเรียน ในฐานะสถาบันหลัก รวมถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มการศึกษาที่มุ่งเน้นการสอบ พร้อมชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ผลสำเร็จจากโครงการกวดวิชานอกโรงเรียน จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้กับเกณฑ์การรับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษา
แนวปฏิบัติยังตั้งเป้ากำหนดกรอบนโยบายพื้นฐาน สำหรับโปรแกรมกวดวิชานอกระบบทั่วประเทศภายในกลางปี 2566 พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลตามปกติ รวมถึงตั้งเป้าให้ภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การอบรมโดยสถาบันนอกระบบมีฐานะ เป็นเพียงส่วนเสริมที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในโรงเรียนภายในปี 2567.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA