ไม่ใช่แค่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นปัญหาที่รัฐบาลของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังไม่สามารถหาทางคลี่คลายลงได้เท่าที่ควร แต่ปัญหา การสื่อสารบกพร่อง ก็ยังเป็นโรคเรื้อรังของรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวหัวหน้าทีม

หากย้อนกลับมองช่วงก่อนเกิดวิกฤติดังกล่าว หลายครั้งที่เราได้เห็นว่ารัฐบาลแจ้งประกาศต่อประชาชนในหลายๆ เรื่อง ก็มีผู้คนออกมาส่งเสียงสะท้อนถึงความสงสัยหรือสับสนตามมา จนทำให้ภาครัฐต้องมาชี้แจงขยายความ หรือบางครั้งเกิดการออกประกาศหรือคำสั่งฉบับใหม่แทนที่ของเก่ากันเลยทีเดียว

กระทั่งเมื่อเกิดสถานการณ์เชื้อไวรัสอาละวาด ภาวะ “การสื่อสารบกพร่อง” ที่ว่านี้ยิ่งแสดงอาการหนักและชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่แจ้งข้อมูลข่าวสารไม่ชัดเจนได้ในรอบเดียว ทำให้ต้องมาแก้ข่าวหรือกล่าวขอโทษผ่านสื่อให้เห็นกันหลายหน

แต่ที่น่าเป็นห่วง คืออาการนี้เกิดขึ้นกับตัวผู้นำรัฐบาลแล้วส่งผลกระทบกับหลายฝ่าย ล่าสุด เกิดกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องการจัดซื้อชุดตรวจแบบ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit – ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนใช้ตรวจหาเชื้อ โควิด-19 เพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้เข้าสู่ระบบการรักษาเร็วขึ้น

โดย สปสช. คิดคำนวณราคาต่างๆในการจัดซื้อครั้งนี้ไว้เรียบร้อย พร้อมมองหาบริษัทผู้ผลิตชุดตรวจดังกล่าวที่เข้าเกณฑ์ว่าได้รับการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว 2 ราย

ทว่าตามหลักกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ สปสช. ซื้อได้เอง แต่ต้องให้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดซื้อจัดหา นำไปการประมูลแบบปกติที่มีบริษัทหลายแห่งมายื่นซองแข่งขัน ซึ่งผู้ชนะได้งานไป คือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล ที่เป็นตัวแทนนำเข้าชุดตรวจของบริษัท เป่ยจิง เลอปู เมดิคอล เทคโนโลยี ของจีน

แม้ อภ. ยืนยันว่าชุดตรวจของบริษัทนี้ผ่านการรับรองของ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย และผ่านเกณฑ์การตรวจโดย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว แต่ยังไม่ทันที่ คณะกรรมการ อภ. เคาะผลตัดสิน ก็โดน ชมรมแพทย์ชนบท ทักท้วงว่าเป็นของที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานสากล และ WHO ยังไม่ได้รับรอง

ซ้ำเติมด้วยประเด็นใหญ่ จากกรณีเอกสาร มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏข้อสั่งการนายกฯ ในเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจเจ้าปัญหานี้ที่ระบุว่า ต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจาก WHO

แม้หลายคนที่ร่วมประชุมในวันนั้นออกอาการงงๆ ไม่ยืนยันว่ามีสั่งการอย่างนี้จริงหรือไม่ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีการชี้แจง ที่สำคัญ “บิ๊กตู่” เองก็ยังไม่ออกมาเคลียร์ให้ชัด กลับเอ่ยแค่ให้ กระทรวงสาธารณสุข เป็นคนพูด

ส่วนแพทย์กลุ่มนี้เอาไปเคลมเก็บแต้มแล้วว่านายกฯส่งสัญญาณให้ อภ. ระงับเซ็นสัญญาจัดซื้อชุดตรวจจากจีนแล้ว

ผลกระทบที่ตามมาก็สาหัส ทั้งการประมูลการจัดซื้อดังกล่าวของ อภ. ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ขณะที่เอกชนผู้ชนะการประมูลรู้สึกว่าถูกตัดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม ด้านประชาชนกว่าจะได้รับแจกจ่ายอุปกรณ์นี้คงอีกนาน

ที่สำคัญ การทำงานของเหล่าข้าราชการผู้ปฏิบัติงานจากนี้ไปจะล่าช้าและยากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กลายเป็นผู้นำประเทศด้อยค่าระบบการพิจารณาตรวจสอบและการขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานในประเทศเอง

ผู้นำในยามที่บ้านเมืองยังวิกฤติหนักหนา ขออย่าสร้างวิกฤติด้านอื่นมาซ้ำเติมกันอีกเลย.