น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ 9 ม.ค.66 แข็งค่าไปทดสอบแนว 33.55 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 9 เดือน ในช่วงเช้าวันนี้ (09.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 34.05 บาทต่อดอลลาร์

โดยเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นตามสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ ยังคงเผชิญแรงเทขายทั้งเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคและค่าเงินสกุลหลัก หลังจากข้อมูลค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 0.4% และน้อยกว่า 0.6% ในเดือน พ.ย.) ซึ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความเชื่อมั่นว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 25 bps. ในการประชุม FOMC รอบแรกของปีนี้ในช่วงปลายเดือนนี้ (31 ม.ค.-1 ก.พ.)

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.50-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมของผู้บริโภคเดือน ธ.ค.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังการเติบโตของค่าจ้างในสหรัฐ ชะลอลงมากกว่าคาด ทำให้ตลาดมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่อง หนุนโอกาสเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และในสัปดาห์นี้ มองว่า ทิศทางนโยบายการเงินเฟด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาด โดยต้องติดตาม รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ และ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐ – ทิศทางนโยบายการเงินเฟดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดการเงินสหรัฐ ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐ โดยเฉพาะ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.5% จากระดับ 7.1% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน, ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลง รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาสินค้าและบริการหลายรายการตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็จะชะลอลงสู่ระดับ 5.7% จากระดับ 6.0% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมีความสบายใจมากขึ้นว่า เงินเฟ้อสหรัฐ มีแนวโน้มชะลอตัวลง จนอาจทำให้เฟดพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เหลือ +0.25% (ลดลงจาก +0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม)

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งเรามองว่า หากในช่วงนี้ ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากความหวังว่าเฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็อาจพยายามปรับลดความคาดหวังดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ด้วยการส่งสัญญาณเน้นย้ำจุดยืนว่า เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและอาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

ฝั่งยุโรป – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อ CPI ก็ชะลอลงชัดเจนมากขึ้น ทำให้บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์อาจมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินยุโรป สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนโดย Sentix (Investor Confidence) เดือนมกราคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -18 จุด

ฝั่งเอเชีย – การค้าระหว่างประเทศของจีนในเดือนธันวาคม อาจยังคงซบเซาต่อเนื่อง กดดันโดยผลกระทบของการระบาด COVID-19 ในจีน โดยตลาดประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) ของจีนในเดือนธันวาคม อาจหดตัวกว่า -12%y/y ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาในภาคการผลิตท่ามกลางสถานการณ์การระบาด COVID-19 ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็อาจหดตัวราว -10%y/y

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนจะยังไม่สดใส แต่ผู้เล่นในตลาดอาจมองข้ามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว จากความหวังว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนอาจทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวได้สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกง รวมถึงการแข็งค่าของเงินหยวน (CNY) ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.50% หลังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงราว 5.0% เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ 2.0%

ฝั่งไทย – ประเมินว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 49.5 จุด ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นต่อเนื่องและล่าสุดก็มีความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่เร็วขึ้นกว่าคาด ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ของทางการจีน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ระหว่างสัปดาห์ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการย่อตัวของราคาทองคำ แต่คงมองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความคาดหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น มองว่า ตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีกว่าคาด (Good News is Bad News for the market) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและหนุนให้เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐปรับตัวขึ้น

นอกจากนี้ ควรระวังถ้อยแถลงประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐ โดยเราคาดว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ กดดันให้ตลาดอาจระมัดระวังตัวมากขึ้นและเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐชะลอลงชัดเจน ตลาดก็พร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง