จากกรณี ที่นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคโอกาสไทย อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาเปิด เผยเกี่ยวกับส่วยบนเกาะเสม็ด หลังจากไปตรวจสอบพบว่า มีการเรียกเก็บเงินรายปีจากรถยนต์เช่า จำนวน 16,000 บาทต่อคันต่อปี รถ จยย. คันละ 1,600 บาท ต่อคันต่อปี พร้อมสติกเกอร์ 1 แผ่น ใครไม่จ่ายวิ่งไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการเรือโดยสารโอด ถูกขึ้นค่าธรรมเนียมเรือรายปี ถึง 3 เท่าตัว ทั้งที่เพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิดมา 3 ปี นอกจากนี้ยังมีการเก็บเงินแบกกับการอนุญาตก่อสร้าง เก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณการก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดเผยว่า ถูกเรียกเก็บการต่อเติมรีสอร์ท กว้าง 11 ม. ลึก 16 ม. ต้องจ่าย 500,000 บาท เพื่อแลกอนุญาตให้สร้าง และยังถูกหลอกให้ออกรถยนต์มา 2 คัน เพื่อให้วิ่งรับส่งนักท่องเที่ยวในรีสอร์ท โดยต้องจ่ายคันละ 1 แสนบาท พอจ่ายแล้วปรากฏว่าวิ่งได้เดือนเดียว ถูกห้ามวิ่ง เงินจำนวน 2 แสนบาท ก็ไม่ได้คืน เสียเงินออกรถอีกกว่าล้านบาท อีกกรณี แค่นำคราดนำไม้กวาดมากวาดคราดหญ้าริมถนนเข้ารีสอร์ท ถูกอุทยานฯ จับ แล้วต่อรองกว่า 11 ชั่วโมง ให้จ่ายเงินสองแสนบาทแลกกับการปล่อยตัว สุดท้ายไม่มีเงินจ่ายจึงถูกดำเนินคดี ส่วน หาบเร่ หมอนวด เพนท์ เจ็ตสกี ซัพบอร์ด เรือลากร่ม เข่าห่วงยาง ต่างก็ต้องจ่ายค่าบำรุง เดือนละ 300 บาท ด้าน หน.อุทยานฯ โต้ไม่เป็นความจริง ไม่มีการเรียกเก็บเงินส่วย ตามที่เสนอไปแล้ว

เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นายธานี สุขกระจ่าง ประธานชมรมแท็กซี่เกาะเสม็ด (รถยนต์เช่า) ได้เปิดเผยว่า กรณีเงินจำนวน 16,000 บาท ตามที่เป็นข่าว ตนเองได้รับการประสานจากอุทยานฯ ให้ช่วยดำเนินการ เพื่อทำให้รถยนต์เช่าถูกกฎหมาย เพื่อจะได้วิ่งได้ถูกกฎหมาย โดยมีการเรียกเก็บจริง จำนวนเงินดังกล่าวเป็นค่าดำเนินการครั้งเดียว ต่อไปจะเก็บเป็นค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 2,000 บาท ต่อปี สำหรับเงินที่ตนเองเก็บมาทั้งหมด 60 ราย รวมเป็นเงินทั้งหมด 966,000 บาท ได้ส่งให้ทางอุทยานฯ ไปหมดแล้ว ที่ทุกคนยอมจ่ายก็เพื่อต้องการทำมาหากิน จะได้วิ่งรถเข้าไปในเขตอุทยานฯ ได้ ส่วนกรณีที่ผ่านมา วิ่งได้มาตลอดหลายสิบปี ทำไมจึงต้องเก็บ ทางอุทยานฯ อ้างว่ากฎหมายใหม่ จึงต้องดำเนินการใหม่ ทุกคนก็ยอมจ่าย เพราะถ้าไม่จ่ายก็วิ่งไม่ได้ จึงต้องยอม เพื่อให้ถูกต้องและทำมาหากินได้

ด้านผู้ประกอบการรถเช่า ได้เปิดเผยว่า ได้มีการส่งคนนำหนังสือมาให้เซ็น ยอมรับว่า ไม่ได้จ่ายเงินจำนวน 16,000 บาท ตามที่เป็นข่าว แต่ทุกคนไม่ยอมเซ็นชื่อยอมรับ เพราะถ้ายอมรับไปแล้ว กลัวว่าเงินที่เสียไปจะสูญไป จึงไม่มีใครเซ็น เพราะเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างว่า ต้องส่งเข้ากรมดำเนินการให้ถูกกฎหมาย แล้วทำไมจึงต้องปฏิเสธ เงินก็รับไปแล้ว

เข่นเดียวกับ จยย.รับจ้าง และ จยย.ให้เช่า ต่างก็เสียเงินไปทั้งหมด 660 คัน คันละ 1,600 บาท รวมเป็นเงิน 1,056,000 บาท ซึ่งก็ส่งไปหมดแล้ว

ด้านผู้ประกอบการที่ออกมาให้ข้อมูล ต่างก็หวาดกลัว เพราะกลัวจะถูกกลั่นแกล้ง เพราะกฎหมายมีข่องโหว่ให้หากิน ทั้งที่ทุกคนต่างก็เช่าที่จากธนารักษ์ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเสียเงินค่าเช่าหลายล้านบาท แต่สุดท้ายกลับทำอะไรไม่ได้ ต่อเติม ปรับปรุง ซ่อมแซม ต้องเสียเงินใต้โต๊ะ ไม่เสียก็ถูกจับ แค่ถากหญ้ายังต้องเสียเงินเป็นแสน แล้วจะหาความถูกต้องได้อย่างไร ซึ่งความเป็นจริง หากเช่าที่ถูกต้อง การก่อสร้างซ่อมแซมในพื้นที่ ก็ควรจะต้องทำได้ เพราะไม่ได้ไปสร้างล่วงล้ำในพื้นที่ใหม่ จึงต้องการให้ทางผู้ใหญ่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ช่วยดูแลตรวจสอบด้วย