ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรณบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 นายแพทย์กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ ของกระทรวงสาธารณสุข และร่วมตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสามชุก เพื่อติดตามนโยบายบ้านพักบุคลากร ห้องฉุกเฉินคุณภาพ หน่วยบริการไตเทียม และแผนกอื่นๆ รวมทั้งให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมี นายแพทย์รัฐพล เวทสรณสุธี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี และคณะให้การต้อนรับ พร้อมร่วมมือในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่มาใช้บริการ

สำหรับในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการ ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ภายใต้กรอบ 14 แผนงาน 37 โครงการ และ 59 ตัวชี้วัด มุ่งเน้นให้ “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง : Health for Wealth” สู่เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” และขับเคลื่อนนโยบายใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น อย่างเป็นธรรม สะดวก และรวดเร็ว พร้อมดูสุขภาพปฐมภูมิที่บ้านและชุมชนด้วยกลไก 3 หมอ 2.การยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อคนไทยแข็งแรง สื่อสารเรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ถูกต้อง ปลอดภัย ทันสมัย 3.ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง 4.นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมสมุนไพร และภูมิปัญญาไทยขยายโอกาสสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพ (Health Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่ประชาคมโลก สร้างเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และ 5.ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชนโดยจัดทำระบบฐานข้อมูลดิจิทัลเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ประชาชนได้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเองและสามารถใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จึงจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ หรือ PA ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นตัวชี้วัด และความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จตามข้อตกลงร่วมกันที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ ผู้รับบริการมีความพึงพอใจ นำไปสู่ความสำเร็จในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีการติดตามความคืบหน้ารอบ 3, 6, 9 และ 12 เดือน.