ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้หลายอาชีพจะได้รับผลกระทบทำให้ต้องขาดทุนไปตาม ๆ กัน แต่ยังมีอาชีพบางอย่างที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนเป็นอย่างดี อย่างเช่น อาชีพเพาะเลี้ยงไก่งวง ของ นางจำเนียร สวนงาม อายุ 65 ปี ชาวบ้านตำบลแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ที่เพาะเลี้ยงมานานเกือบ 10 ปี ด้วยความทุ่มเท เริ่มตั้งแต่การเพาะเลี้ยงอย่างทะนุถนอม ควบคู่ไปกับการหาช่องทางการตลาดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ และสำนักงานเกษตรอำเภอ จนทำให้ทุกวันนี้ความต้องการไก่งวง ยังคงเกินขีดความสามารถที่ฟาร์มเล็ก ๆ แห่งนี้ จะผลิตให้ได้ทันความต้องการของทางท้องตลาด ในขณะที่ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอครบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ เข้ามาช่วยจัดการดูแลให้คำแนะนำในเรื่องของมาตรการป้องกันโรค ความสะอาด อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ล่าสุดฟาร์มแห่งนี้ ได้รับมาตรฐาน GFM หรือ ฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา


นางจำเนียร เจ้าของฟาร์มไก่งวง กล่าวว่า ได้เริ่มทดลองเลี้ยงไก่งวง มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2555 โดยซื้อหาพันธุ์มาตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ ในราคาตัวละ 100 บาท จากนั้นได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ ตามคำแนะนำของทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ กระทั่งประสบผลสำเร็จ ทำให้สามารถขยายฟาร์มจากที่เลี้ยงแบบวิถีชีวิตชาวบ้าน ให้กลายมาเป็นฟาร์มขนาดย่อมที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่อำเภอครบุรี และกลายเป็นอาชีพหลักแทนการทำการเกษตร จนล่าสุดได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชุน มีเครือข่ายร่วมเพาะเลี้ยงอีกหลายกลุ่มประมาณ 20 ราย และได้รับมารตรฐาน GFM หรือ ฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ควบคู่ไปกับการเจาะหาช่องทางทางการตลาดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้มีตลาดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาว และเวียดนาม

แม้ว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การส่งออกไก่งวง ไปยังต่างประเทศต้องชะงักเนื่องจากมาตรการควบคุมโรค แต่ความต้องการบริโภคไก่งวง ในประเทศเองก็ยังสูง โดยเฉพาะตามร้านอาหาร และภัตตาคารใหญ่ ๆ ที่มีออร์เดอร์มายังฟาร์มของตนเองเดือนละประมาณ 200 ตัว ล่าสุดที่ฟาร์มยังคงมีไก่งวง เพาะเลี้ยงเตรียมส่งประมาณ 850 ตัว และต้องทำการฟักเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มอีกสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของท้องตลาด โดยให้เครือข่ายนำไปเลี้ยง และขุนมาเสริมที่ฟาร์ม ส่วนราคาจำหน่ายก็จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ที่หน้าฟาร์ม ตัวหนึ่ง ๆ จะให้น้ำหนักมากกว่า 10 กิโลกรัม ใช้เวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 6 เดือน การจำหน่ายแต่ละรอบจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อรอบเลยทีเดียว โดยในจำนวนนี้เป็นค่าต้นทุนประมาณ 60,000 บาท ทำให้การจำหน่ายแต่ละครั้งจะสร้างกำไรสูงกว่า 100,000 บาท ต่อรอบเลยทีเดียว

