เมื่อวันที่ 18 ม.ค. น.ส.ศิริลักษณ์ รัตน์บัวชุม นักศึกษาปริญญาเอกไทยในมหาวิทยาลัยสิบสองปันนา ประเทศจีน ร่วมกับ ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ ดร. Harald Schneider นักพฤกษศาสตร์จากสถาบันพฤกษศาสตร์สิบสองปันนา ร่วมกันค้นพบพืชชนิดย่อยใหม่ “ดาดหินทราย (B. fimbristipula subsp. siamensis)” ดาดหินทรายถูกจัดให้เป็นพืชชนิดย่อยของ Begonia fimbristipula subsp. fibristipula ที่พบในประเทศจีน

ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญเนื่องจากอีกเป็นต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของไทย และของโลก ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในเป้าหมายที่ 15 (Life on Land) ที่ว่า ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และเป็นการค้นพบกลุ่มประชากรเพิ่มเติมของ Begonia fimbristipula ซึ่งในประเทศจีนถูกจัดอยู่ในรายชื่อพืชป่าที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ภายใต้การคุ้มครองของมณฑลเจ้อเจียงและมณฑลไหหลำ เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวนำออกจากป่าไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มประชากรในประเทศจีนนั้นถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรอย่างยาวนาน นิยมชงดื่มเป็นชาสมุนไพรในมณฑลกวางตุ้งที่ยาวนานกว่า 100 ปี ชานี้มีรสเปรี้ยว ดื่มแล้วให้ความสดชื่น มีสรรพคุณบรรเทาอาการไขข้ออักเสบ ลดไข้ แก้ไอ ส่วนกลุ่มประชากรในไทยยังไม่พบรายงานว่ามีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยา งานวิจัยต่อยอดด้านสรรพคุณของพืชชนิดนี้ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติม

โดยดาดหินทรายที่พบในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มประชากรในจีนอย่างมาก หลังจากทำการตรวจสอบลักษณะทางพฤกษศาสตร์อย่างละเอียด พบว่ามีเพียงลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย จากการใช้ลักษณะสัณฐานวิทยาเบื้องต้น และเขตการกระจายพันธุ์ จึงสามารถจำแนกพืชชนิดนี้ออกจากกลุ่มประชากรในจีนได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาเพิ่มเติมในระดับโมเลกุลยังคงมีความจำเป็นในลำดับต่อไป

ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ กล่าวต่อว่า ดาดหินทรายมีเขตการกระจายพันธุ์ใหม่ในภาคเหนือของไทย พบที่จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และพิษณุโลก ส่วนกลุ่มประชากรในประเทศจีนพบที่ทางตอนใต้ของจีน ในมณฑลฝูเจี้ยน กวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ หูหนาน เจียงซี และเจ้อเจียง ซึ่งดาดหินทรายเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มผู้นิยมถ่ายรูปพันธุ์ไม้เพื่อส่งประกวด มีกลุ่มประชากรกระจายหนาแน่นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ในทุกช่วงฤดูฝนดาดหินทรายเบ่งบานอยู่บริเวณสองข้างร่องหิน เมื่อแสงแดดส่องถึง จะเห็นท้องใบกระทบแสงเป็นสีแดงสดทั้งสองข้างทางสร้างความสวยงามเป็นอย่างมากให้กับผู้พบเห็น และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวและนักถ่ายภาพพันธุ์ไม้นิยมไปถ่ายภาพธรรมชาติ อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Phytokeys ฉบับที่ 218 หน้า 1-10 ครับ