เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 19 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายหลังการพิจารณากระทู้ถามสดและกระทู้ทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว นายชวนแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีหนังสือขอลาออกจากการเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 ทำให้ขณะนี้เหลือ ส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ มี 431 คน องค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 216 คน
จากนั้นก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือถึงความเป็นห่วงปัญหาสภาล่มจะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 5 สัปดาห์ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 28 ก.พ. 2566 จะสามารถผ่านกฎหมายได้กี่ฉบับ โดยนายชวน ชี้แจงว่า วิธีแก้ปัญหาโดยการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่ใช่วิธีการของพวกเรา เป็นการหนีปัญหา แสดงถึงความกลัว ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกฎหมายใดแค่ลงมติไม่รับ บางครั้งมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมครบ แต่ไม่ยอมแสดงตนขอให้สู้อย่าหนีปัญหา เวลาที่เหลือ 5 สัปดาห์ ขอให้สมาชิกมาประชุมอย่างพร้อมเพรียง แม้กฎหมายจะยาว แต่ก็จบได้ถ้าร่วมมือกันให้ใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อย่างร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง, ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่หลายคนไม่เห็นด้วยก็ขอให้มาลงมติ อย่าหนี หวังว่าจะได้รับความร่วมมือ ตั้งใจผ่านกฎหมายไปให้ได้
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้มีคนไม่หวังดีกับสภา กล่าวหาสภาล่ม 22 นาที ไม่เป็นผลดีกับประชาธิปไตย พรรครัฐบาลมี ส.ส.มากกว่า 221 คน เป็นองค์ประชุมได้อยู่แล้ว อย่ามาโยนฝ่ายค้านไม่ให้ความร่วมมือ ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า กฎหมายบางฉบับสมาชิกมีความเห็นต่าง จึงติดเดดล็อก ขอเสนอว่า กฎหมายฉบับใดที่ทำท่าจะเดินไม่จบ ให้สภาชุดหน้าเป็นผู้ตัดสิน ควรเลื่อนระเบียบวาระที่อยู่ลำดับถัดไปมาพิจารณา ให้ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้
ทำให้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย โต้แย้งว่า กำลังสงสัยการเสนอการเลื่อนวาระไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และวิถีฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ค้างพิจารณา จะเสร็จหรือไม่เสร็จอยู่ที่พวกเรา เห็นด้วยที่นายชวนบอกว่ากฎหมายที่เหลืออยู่สามารถพิจารณาได้ทัน ถ้าทุกคนร่วมมือ สมควรเป็นเช่นนั้น วันนี้ประชาชนเรียกร้องพิจาณากฎหมายกัญชาให้แล้วเสร็จ มีผู้เกี่ยวข้องมากมายรอกฎหมายอยู่ ถ้าปล่อยให้ล้มไปจะเป็นปัญหาดังนั้นไม่ควรเลื่อนกฎหมายอื่นมาแทนที่กฎหมายกัญชา ถ้าตั้งใจพิจารณาก็สำเร็จได้ในเวลาที่กำหนด
ท้ังนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงเหตุการณ์สภาล่ม เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง วาระ 2 ในมาตรา 11 เนื่องจากมี ส.ส.อยู่ร่วมลงคะแนนเพียงแค่ 204 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี ส.ส. 217 เสียงจากจำนวน ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 432 คน ทำให้สภาล่ม ในขณะที่เพิ่งประชุมไปได้เพียง 22 นาทีนั้น
จากการตรวจสอบเอกสารการลงมติของ ส.ส.ในมาตรา 11 ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พบว่า มี ส.ส.หลายพรรคการเมืองไม่อยู่ร่วมลงมติในการโหวตมาตราดังกล่าวดังนี้พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. 121 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 86 คน คิดเป็น 71.07%, พรรคพลังประชารัฐ 79 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 35 คน คิดเป็น 44.3%, พรรคภูมิใจไทย 62 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 9 คน คิดเป็น 14.5%, พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 32 คน คิดเป็น 64%, พรรคก้าวไกล 45 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 22 คน คิดเป็น 48.8%
พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 6 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 11 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 7คน ,พรรคเสรีรวมไทย 10 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 5 คน, พรรคประชาชาติ 7 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 6 คนไ ม่อยู่ร่วมโหวต 5 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 2 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 2 คน, พรรครวมพลัง 4 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 2 คน, พรรคชาติพัฒนากล้า 3 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 3 คน ,พรรคโอกาสไทย 2 คน ไม่อยู่ร่วมโหวต 1 คนและพรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาธิปไตย พรรคพลังชาติไทย พรรคเพื่อชาติไทย มีส.ส.พรรคละ 1 คน ไม่มีใครอยู่ร่วมโหวตเลย.