เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการสั่งย้าย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการเรียกรับผลประโยชน์ จากขบวนการทุนจีนสีเทานั้น ว่า กรณีของอธิบดีดีเอสไอ เชื่อได้ว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการออกมาให้ข่าวว่า กรณีการค้นบ้านพักกงสุลนาอูรูร่วมกันระหว่างตำรวจ 191 ดีเอสไอ และทหาร ตัวเองไม่ได้ประสานเพื่อขอให้ดีเอสไอไปทำภารกิจตรวจค้นร่วมกับตำรวจ ทำนองว่าจะโยนความผิดทั้งหมดให้ตำรวจ แต่จากข้อเท็จจริงที่ตนได้มาเชื่อได้ว่า กรณีการตรวจค้นดังกล่าว ดีเอสไอได้เข้าประสานงานกับสถานกงสุลนาอูรูแล้วอย่างไม่เป็นทางการ

แต่ด้วยความที่ขั้นตอนตามกฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีตู้ห่าว ดีเอสไอจึงได้อาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับตำรวจ 191 ขอให้ตำรวจ 191 เป็นเจ้าภาพในการขอหมายและปฏิบัติการตรวจค้น แล้วดีเอสไอจึงเข้าไปร่วมในปฏิบัติการด้วย แม้ในหมายค้นจะไม่มีการระบุถึงความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในปฏิบัติการ แต่ในทางข้อเท็จริงกลับปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้อง และยังไปถึงสถานที่พร้อมกับเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นก่อนตำรวจ 191 จะมาถึงด้วยซ้ำ

ปรากฏว่าผลการตรวจค้นครั้งนั้น มีการระบุในบันทึกการจับกุมว่า ได้จับกุมผู้ต้องหาสตรีชาวจีนที่เป็นแม่บ้านเพียงคนเดียว กับเงินสด 2.5 ล้านบาท ทั้งที่ความจริงแล้วพบตัวผู้ต้องหาตามหมายแดงจากการข่าวถึง 11 คน กับเงินสด 8.5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดูจากภาพคลิปในกล้องวงจรปิดที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำมาเปิดเผย จะเห็นได้ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากบุคคลชาวจีนคนหนึ่ง โดยล่ามของดีเอสไออยู่ที่ด้านนอกบ้าน ได้เป็นเงินจำนวน 4 ล้านบาท ก่อนจะมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาชาวจีนทั้ง 11 คนไป

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวต่อไปว่า ด้วยข้อเท็จจริงภายใต้บริบทเช่นนี้ ประกอบกับการมีเอกสารหลักฐานรายงานของ ผบ.การข่าว ถึงอธิบดีดีเอสไอ เกี่ยวกับกรณีการตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ จึงเชื่อได้ว่า อธิบดีดีเอสไอน่าจะมีส่วนรับรู้กับปฏิบัติการตรวจค้น ทั้งนี้ จากการจับกุมตัวผู้ต้องหาที่เป็นล่ามชาวจีนได้ก่อนพยายามหนีออกนอกประเทศ ทำให้บัดนี้เจ้าหน้าที่ทราบถึงข้อมูลเส้นทางการเงินในคดีนี้แล้วว่าไปที่ไหนบ้าง ซึ่งควรจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการทำให้ทุกคนได้รู้ว่ากระแสเงินอยู่ที่ไหน มีใครรับไปบ้าง เป็นส่วนแบ่งอยู่ที่ใคร จำนวนเท่าไร

ทางด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าจากกรณีดังกล่าว เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งกลุ่มทุนจีนสีเทาและผู้มีอำนาจที่ได้ประโยชน์จากการดำรงอยู่ของกลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้ กำลังปฏิบัติการเพื่อบ่อนทำลายกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้อยู่ ซึ่งตนขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมลงไปอีก ว่ามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในคดีตู้ห่าวอื่นใดอีกบ้าง อาจมีการทุจริตเรียกรับหรือได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มทุนจีนสีเทาเพื่อให้เคลียร์คดีให้

สำหรับกรณีอธิบดีดีเอสไอ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่าตัวของอธิบดีและลูกน้องคนสนิท จะอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถมีบทบาทต่อกระบวนการตรวจสอบ จนอาจเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้น เพียงแค่การสั่งย้ายไปที่หน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงเดียวกันย่อมไม่พอ แต่ควรให้ไปอยู่ในจุดอื่นที่เป็นการพักการทำงานไปเลย เพื่อให้กระบวนการสอบสวนเป็นไปโดยความละเอียดรอบคอบ

“มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับตู้ห่าวและทุนจีนสีเทา ไม่ได้มีแค่ดีเอสไอหรือตำรวจ เป็นไปได้มากว่าจะมีคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่านั้นเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต้องเรียกร้องไปยัง รมว.ยุติธรรม ให้สอบสวนโดยละเอียดมากกว่านี้ และแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ด้วย ในฐานะที่ดีเอสไออยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม และที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องหันมาเอาจริงกับเรื่องนี้ได้แล้ว นี่คือผลของการไม่ยอมทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เอาแต่คิดว่าจะสืบทอดอำนาจอย่างไร หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่เห็นได้เลยว่าทำงานเละเทะกันไปหมด จนตอนนี้เราแยกแทบไม่ออกแล้วว่าใครคือเจ้าหน้าที่รัฐจริงๆ หรือใครคือโจรกันแน่” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่รัฐสภา วันเดียวกัน นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย (กมธ.ปภ.) รับหนังสือร้องเรียนจาก นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสงคราม และตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันสมูธซี 22 ระเบิด ที่อู่ซ่อมเรือ ต.แหลมใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา  

นายอานุภาพ กล่าวว่า เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บ้านเรือนพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายหลายร้อยหลัง พี่น้องประชาชนได้มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน ร่วมตรวจสอบรายละเอียดและเร่งรัดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องการให้เสนอกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตเพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้หากเกิดขึ้น หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก 

ส่วน นายกัญจน์พงศ์ กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ปภ. จะบรรจุเรื่องนี้เข้าพิจารณาในวันที่ 26 ม.ค. โดยจะเชิญอธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ว่าเหตุการณ์ระเบิดที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากอะไร รวมถึงแนวทางการป้องกันและเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทำได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ หลังเมื่อปี 65 ก็เกิดการระเบิดเช่นนี้ ตนจึงมองว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะเป็นเหตุซ้ำซากมากกว่าอุบัติเหตุ จึงควรพูดคุยกันถึงความเหมาะสมของการนำเรือเข้ามาชุมชน ไม่ว่าเรือดังกล่าวจะมีเชื้อเพลิงหรือไม่ รวงถึงความคุ้มค้า 

“ครั้งนี้ผู้เสียชีวิต 8 ท่าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย และความเสียหายจะค่อยๆ แผ่ออกไปเรื่อย ๆ กระจกแตก หลังคารั่ว เราอยากจะให้นำเอาเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ มาถอดบทเรียน และอยากให้ทุกคนร่วมติดตาม” นายกัญจน์พงศ์ กล่าว 

ทางด้าน นายนิติพล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะในพื้นที่เกิดเหตุระเบิด มีความกังวลเรื่องการรั่วไหลของน้ำมัน ตนขอตั้งคำถามว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชายเลน เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอนุญาตให้ตั้งอู่ซ่อมเรือ การตั้งอู่ซ่อมเรือดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTR) ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตกไปเมื่อปี 64 โดยจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.การที่ดินฯ ประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป.