เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนา “ส่วยสินบน บทเรียนกรมอุทยานฯ บทเรียนข้าราชการไทย” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นามสมปอง ทองสีเข้ม อดีต ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นายศศิน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลพบเปรียบเทียบจำนวนอุทยานฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าใหม่ ในช่วงปี 2564 และ 2565 ในแต่ละสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 21 สำนัก พบว่านายรัชฎามีการโยกย้ายหัวหน้าอุทยานฯ ถึง 60% คิดเป็นจำนวน 80 คนจาก 134 คน ซึ่งตนสอบถามจากคนในกรมบอกว่าปรากฏการณ์แบบนี้แทบไม่เคยมี ตอนนี้บางคนหวังนายกฯ จะยุบสภา จะได้หมดเรื่องนี้ไป ซึ่งล่าสุดนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ระบุว่า ประมาณ 2 เดือน ผลสอบนายรัชฏาจะออกมา ก็ครบกำหนดวาระรัฐบาลพอดี มันจะพอดีอะไรขนาดนั้น อย่างนี้มันเป็นการไม่รับผิดชอบอะไรเลย เป็นเรื่องที่ขอท้าทายนายวราวุธ

นายดำรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องโทษผู้มีอำนาจสูงสุดที่เป็นคนแต่งตั้งอธิบดี และขอเสนอให้ นายกรัฐมนตรี สั่งการไปยัง รมว.ทรัพยากรฯ ให้คืนความชอบธรรมข้าราชการที่ถูกย้าย 300 กว่าตำแหน่ง พร้อมเตือนการที่นายกฯ นิ่งเฉย สังคมจะไม่ไว้วางใจท่าน วันนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ถือเป็นกระทรวงเกรดบีบวก เพราะมีกรมน้ำบาดาลที่งบประมาณมากที่สุด บ่อบาดาลขุดลึกเท่าไร ใครจะไปนับ ดูเบิกงบขุดบ่อ 500 เมตร แต่ขุดจริงเพียง 100 เมตร เหมือนปล่อยปลาไป 1 ล้านตัว คุณไปดำน้ำตามหาได้หรือไม่

นายนิวัติไชย ชี้แจงขั้นตอนหลังจาก ป.ป.ช. รับเรื่องสอบนายรัชฎา ต้องตั้งกรรมการไต่สวน ตามกฎหมายต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี ขยายได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าพยานหลักฐานชัดเจนพอคิดว่า ไม่น่าจะเกิน 1 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น อยากฝากว่าการให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ต่อ ป.ป.ช. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การกันบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดไว้เป็นพยาน ถ้า ป.ป.ช. มีมติกันไว้เป็นพยานบุคคล ไม่ต้องรับผิดทั้งอาญาและวินัย ฝากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ แต่ถ้าให้การไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง หรือให้การเท็จ นอกจากตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ยังจะตกอยู่ในสภาพที่มีส่วนร่วมในการทำความผิดด้วย.