สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ว่า สำนักข่าวอาร์ไอเอของทางการรัสเซียรายงาน โดยอ้างเป็นประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ ว่า สืบเนื่องจากมาตรการต่อต้านรัสเซีย ที่ญี่ปุ่นดำเนินการฝ่ายเดียวอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมอสโกแจ้งให้รัฐบาลโตเกียวทราบแล้วว่า จะไม่มีการหารือระดับรัฐต่อรัฐ เพื่อรื้อฟื้นและขยายระยะเวลาของข้อตกลง
ทั้งนี้ รัสเซียประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว ระงับข้อตกลงระดับทวิภาคีฉบับปี 2541 ว่าด้วยการกำหนดโควตาให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าไปทำประมงในพื้นที่ใกล้กับหมู่เกาะคูริล เนื่องจากรัฐบาลโตเกียวเป็นฝ่ายละเมิดเงื่อนไข ด้วยการเริ่มชะลอการมอบความสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิค ให้แก่ภูมิภาคซาคาลิน ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐบาลมอสโก และตั้งอยู่ทางเหนือสุดของญี่ปุ่น เพื่อแลกกับโควตาการจับปลาแต่ละปีในบริเวณนั้น
NHK has learned that Russia notified Japan it cannot hold annual talks this year that are aimed at ensuring the safety of Japanese fishing boats when they operate near the four Russian-held islands claimed by Japan.https://t.co/l3VUkcXCRm
— NHK WORLD News (@NHKWORLD_News) January 22, 2023
ขณะที่เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา กองทัพรัสเซีนติดตั้งระบบขีปนาวุธป้องกันชายฝั่ง “บาสเตียน” หรือที่มีชื่อบนฐานข้อมูลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ว่า “เอสเอส-ซี-5 สตูจ” ( SS-C-5 Stooge ) ซึ่งมีพิสัยทำการเป็นระยะทางประมาณ 500 กิโลเมตร บนเกาะปารามูเชียร์ หนึ่งในเกาะย่อยส่วนเหนือของหมู่เกาะคูริล “เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ” ให้กับเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของกองเรือแปซิฟิก ในการ “ลาดตระเวนและเฝ้าระวัง” ตลอดจน “ควบคุม” น่านน้ำบริเวณนั้น
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น เรื่องกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะคูริล ในทะเลโอคอตสค์ ที่เป็นดินแดนอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัสเซีย ยืดเยื้อนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และทั้งสองประเทศยิ่งมึนตึงต่อกันมากขึ้น เมื่อญี่ปุ่นดำเนินการตามตะวันตก คว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีสงครามยูเครน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโตเกียว ยืนกรานว่า บริเวณดังกล่าวถือเป็น “ภูมิภาคเขตเหนือ” ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเกาะย่อย 4 แห่งคือ อิตูรุป คูนาเชียร์ ชิโกตัน และฮาโบไม การเจรจาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งแทบไม่มีความคืบหน้าที่สร้างสรรค์ ส่งผลให้รัสเซีย และญี่ปุ่น ยังไม่สามารถลงนามในข้อตกลงสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมกันได้อย่างเป็นทางการ.
เครดิตภาพ : REUTERS