เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. พร้อมด้วย นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย พร้อมร่วมกันมอบสติกเกอร์รณรงค์ให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการขนส่งอาหารและพัสดุ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยมีภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

นายทรงศัก เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกับ ขบ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น อยู่ระหว่างเตรียมเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทลงโทษเรื่องการจราจรบริเวณทางม้าลาย ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อาทิ การกำหนดให้รถต้องหยุดบริเวณเส้นทึบทางม้าลาย เมื่อมีคนข้าม, การเพิ่มค่าปรับตามขั้นบันไดตามความเร็วของรถเมื่อผ่านทางม้าลาย โดยกำหนดให้หยุดรถที่ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.)

ปัจจุบัน กรณีไม่หยุดรถตรงทางม้าลายนั้น สตช. มีบทลงโทษค่าปรับอยู่ที่ 4,000 บาท ตามกฎหมาย และตัดแต้ม จึงได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเรื่องการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย เนื่องจากเดิมเป็นเพียงการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเท่านั้น ดังนั้นต้องแก้ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และมีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนเรื่องการกำหนดความเร็วบริเวณทางม้าลายนั้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานอื่นๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว อีกทั้งได้มีการประชุมกำหนดจุดติดป้ายกำกับความเร็ว 30 กม./ชม. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 66

นายทรงศัก กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม.มีทางม้าลาย จำนวน 3,280 แห่ง โดยเมื่อปี 65 ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลายแล้ว 138 แห่ง ขณะที่ในปี 66 จะดำเนินการปรับปรุงติดตั้งจำนวน 62 แห่ง ส่วนเรื่องกายภาพในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้ประสานงานกับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ ขบ. เพื่อจัดทำแผนที่กำหนดจุดที่มีลำดับความสำคัญ และครอบคลุม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 66-67

“แม้ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติโดยตรง แต่ขณะนี้ได้เดินสายไปพบกับหลายหน่วยงาน รวมถึง ขบ. ที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือน ก.ย. 65 ได้เริ่มตรีมใหญ่ร่วมกัน คือ ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี การจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่ง และส่วนสำคัญที่ทาง ขบ. ได้คิดหลักในการครอบคลุมเรื่องการใช้รถ ใช้ถนน ที่กว้างกว่าเรื่องทางม้าลาย อาทิ เรื่องความเร็ว และเรื่องการไม่ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร เป็นต้น ส่วนข้อเสนอที่จะมีการเสนอต่อรัฐบาล เชื่อว่ามีความเป็นไปได้เพราะเป็นไปตามหลักสากล ตามกฎหมาย และเชื่อว่าการเลือกตั้ง หรือการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาถึงไม่มีผลกระทบกับข้อเสนอเหล่านี้ แต่ต้องขอให้ทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฯ ในการเร่งผลักกฎหมายเหล่านี้ต่อไป” นายทรงศัก กล่าว

นายทรงศัก กล่าวอีกว่า จากสถิติของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า เมื่อ 9 เดือนแรกของปี 64 มีประชาชนเสียชีวิตจากการเดินเท้า ประมาณ 26 คนต่อเดือน ส่วนเมื่อปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 29 คนต่อเดือน และเมื่อวันที่ 21 ก.ย.-19 ธ.ค. 65 หลังจากมีการรณรงค์ใหญ่ พบผู้เสียชีวิตลงลด เหลือเพียง 1 ราย

อย่างไรก็ตาม อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีคณะกรรมการประสานงานฯ ในมิติต่างๆ และการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาฯ ซึ่งได้หารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กทม. และ ขบ. ในการปรับปรุงหลักสูตรเกี่ยวกับวินัยการจราจร ให้มีความเข้มข้นขึ้น ตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อเป็นการสร้างค่านิยมการปลูกฝัง การเคารพกฎจราจร และการมีระเบียบวินัยในสังคมต่อไป

ด้าน นายจิรุตม์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก และจำนวนหนึ่งเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม ทั้งนี้ ขบ. จึงได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ

ทั้งนี้ จะสอดแทรกประเด็นส่งเสริมความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายไว้ด้วย ทั้งยังมีโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำและการใช้ทางข้ามถนนปลอดภัย ซึ่งจะมีการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ การออกแบบ รวมไปถึงกฎหมายสำหรับการควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้ทางม้าลายหรือทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ อย่างไรก็ตาม ขบ.มีความมุ่งหวังว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายในครั้งนี้ จะช่วยสร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” อีกทั้งผู้ขับขี่ต้องตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย