นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม ด้านมาตรฐาน และการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง

รวมทั้งเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ และเตรียมพร้อมสู่การขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในอนาคต ตลอดจนเพื่อเป็นการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางราง ของหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ให้เป็นไปตามกฎและระเบียบที่กฎหมายกำหนด ให้กับภาคการผลิตให้มีมาตรฐานการทดสอบเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดต้นทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางให้มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย มั่นคงให้บริการกับประชาชน ซึ่งในส่วนของขอบเขตบันทึกข้อตกลงนี้ ประกอบด้วย 1. การร่วมกันขับเคลื่อนด้านมาตรฐาน และการทดสอบ รับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางของไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า 2. ร่วมกันวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางของไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางของไทยให้ได้มาตรฐานการทดสอบในระดับสากล และสามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง 3.ส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศ เพื่อให้บริการทดสอบ การตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ในระบบราง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบรางของไทย และพัฒนาสถานะประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อ มาเป็นประเทศผู้ผลิต เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ตลอดจนช่วยขยายขีดความสามารถของไทยให้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟได้ในอนาคต โดยการพัฒนาด้านการทดสอบ รับรอง มาตรฐาน ระบบขนส่งทางราง เพื่อลดภาระการนำเข้าสินค้า และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อสู่การขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในอนาคต และ 4. ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาด้านมาตรฐาน การบริการทดสอบ การตรวจสอบและการรับรองผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพในการพัฒนาวงการทางการวิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง

นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขนส่งทางรางให้มีความปลอดภัย ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แก้ไขปัญหาจราจรติดขัด รวมถึงลดปัญหามลภาวะทางเสียง และอากาศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  อีกทั้งนอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว หากชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ระบบราง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบตัวรถขนส่งทางราง ด้านระบบอาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคมได้มีการศึกษาวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม จนผลิตขึ้นได้โดยคนไทย ใช้วัสดุภายในประเทศ ผ่านการทดสอบให้ได้ตามค่ามาตรฐานสากลที่กำหนด ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบ EMC และระบบอาณัติสัญญาณ ณ อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งห้องดังกล่าวเป็นห้องที่ใช้วิจัย และทดสอบระบบรางโดยใช้ไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้า (electrical train) ก่อนดำเนินการติดตั้งระบบต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ การติดตั้งระบบสื่อสาร การซ่อมแซมความผิดปกติของระบบต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของหน่วยงานรับรองระบบ (Certification Body: CB) สากลด้วย โดยหน่วยงานต่างๆ ต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของรถไฟฟ้าทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างการดำเนินการ และภายหลังการปรับปรุงระบบ เพื่อความปลอดภัยในการนำระบบต่างๆ มาใช้งานต่อไป.