เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.เชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานเปิดงานและร่วมรับชมการแสดงโขนพระราชทานจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2566 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” โดยมีคุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ คุณนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์THEATRE และผู้ทรงคุณวุฒิโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ร่วมรับชมกว่า 3,000 คน 

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ นำคณะ และนักแสดง ร่วมประกอบพิธีคำนับครูเพื่อความเป็นสิริมงคล และนำผู้ร่วมรับชมเปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างกึกก้อง ก่อนทำการแสดง โดยภายหลังจบการแสดง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบช่อดอกไม้ให้แก่ตัวแทนนักแสดง ตัวแทนนักดนตรี ผู้เขียนบท ผู้กำกับ และผู้อำนวยการแสดง และรับมอบของที่ระลึกจากคุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้คณะนักแสดงโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาทำการแสดงที่จังหวัดเชียงรายในครั้งนี้ นับเป็นความโชคดีของชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ที่ได้รับโอกาสในการชมอย่างใกล้ชิดได้สัมผัสกลิ่นอายของนาฏกรรมโบราณ และเป็นการร่วมสืบสานจารีตธำรงเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย “โขน” ถือเป็นสุดยอดศิลปะการแสดงชั้นสูงและได้รับการประกาศจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้ขึ้นบัญชีการแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561″ นายสุทธิพงษ์ กล่าว 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ด้วยพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินไทยนานัปการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช” เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 เพื่อสนองพระเดชพระคุณ เฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาล ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานพระราชกรณีกิจ ทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งทรงพระราชทานให้คณะนักแสดงโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาแสดงที่จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ 4 หรือเป็นจังหวัดแรกหลังจากประเทศต้องประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิค-19) เป็นปฐมฤกษ์ของปี 2566 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของชาวเชียงราย 

“ขอขอบคุณหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จ.เชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เทศบาลนครเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กระทรวงวัฒนธรรม และทุกหน่วยงาน ที่มีส่วนในการจัดการแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้านนายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชทรงสร้างเมืองเชียงรายครบรอบ 761 ปี และครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดเชียงรายได้ขอพระราชทานคณะโขนศาลาเฉลิมกรุง เพื่อสมโภชน์เมืองเชียงรายและเฉลิมฉลองในสองโอกาส ข้างต้น จังหวัดเชียงรายจึงขอพระราชทานพระมหากรุณาให้คณะโขนจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีความสวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทย มาจัดแสดงที่ จ.เชียงราย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ในการอนุรักษ์ทำนุบำรุงและสืบสานนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ และร่วมสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังให้เด็กเยาวชนและประชาชนชาวไทยเกิดความรัก และความภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติไทย โดยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้คณะโขนศาลาเฉลิมกรุงมาจัดการแสดงโขนพระราชทาน เรื่อง รามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญกำแหง ในระหว่างวันที่ 14-15 ก.พ. 2566 ณ ศาลากลาง จ.เชียงราย 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแสดงโขนพระราชทานจ.เชียงราย แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงในครั้งนี้ เป็นคณะโขนที่ได้คัดเลือกนักแสดงกว่า 100 คนได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย จากหลากหลายสถาบัน อำนวยการแสดงโดย คุณนฤมลล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ควบคุมการแสดงโดย รศ.ดร.ศุภชัยจันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) กำกับการแสดงโดยอาจารย์เฉลิมศักดิ์ ปัญญวัตวงศ์ บรรเลงดนตรีโดยวงโรหิตาจล ศิลปะการแสดงชั้นสูงการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ชุด “หนุมานชาญกำแหง” จับตอนตั้งแต่กำเนิดหนุมานจนได้เป็นข้าทหารของพระราม ช่วยพระรามรบกับทศกัณฐ์จนชนะ และได้รับประทานสมญาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพรรธพงศา ครองเมืองนพบุรี ประกอบด้วยการแสดง 8 องก์ องก์ 1 กำเนิดหนุมานชาญกำแหง องก์ 2 วานรอ่อนแรงด้วยต้องสาป องก์ 3 ขุนทหารรับอาสาสืบหนทาง องก์ 4 ช่วยสีดา-ล้างสหัสกุมาร องก์ 5 คุมทหารถมศิลา จับมัจฉาอรทัย องก์ 6 ลวงเอาดวงใจทศกัณฐ์ องก์ 7 กุมภัณฑ์พ่ายแพ้หนุมาน และองก์ 8 ขุนทหารครองพารา ถ่ายทอดผ่านการแสดงอันวิจิตรงดงามตระการตา และถูกต้องตามขนบจารีตแบบแผนดำเนินเรื่องด้วยการพากย์และเพลงหน้าพาทย์แบบโบราณ เรื่องราวสั้นกระชับด้วยการพากย์เจรจาที่สนุกสนานตื่นเต้นไปกับลีลากระบวนท่าของลิงที่หาชมยากยิ่งในปัจจุบัน 

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมสวมใส่ชุดผ้าไทยและผ้าประจำถิ่น ร่วมรับชมการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ในวันนี้ เวลา 19.00 น. ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ณ สนามหน้าศาลากลาง จ.เชียงราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นายพุฒิพงศ์ กล่าว.