เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (Final Casting Ceremony) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกว่า การเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อฯ ครั้งนี้ จะทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% โดยพิธีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 4 ปัจจุบันการก่อสร้างสัญญาดังกล่าว มีความก้าวหน้าแล้ว 98.23% ซึ่งงานโครงสร้างของสะพานขึงจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 66 จากนั้นจะเป็นงานในส่วนของสถาปัตยกรรม

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ทำเรื่องขอพระราชทานชื่อสะพานดังกล่าวแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างทั้งโครงการฯ วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีความก้าวหน้าประมาณ 46.21% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% (แผนงาน 40.65%) สำหรับสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือน มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กทพ. มีแผนเปิดให้บริการบางส่วน ช่วงบริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ ในเดือน มี.ค. 67 ก่อนจะเปิดให้บริการทั้งโครงการอย่างเต็มรูปแบบในปี 67

โครงการดังกล่าวมีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร (กม.) เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร และ 8 ช่องจราจร บริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เมื่อเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้วันละประมาณ 1.5 แสนคันต่อวัน รองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และชั้นในของกรุงเทพฯ การเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก และการมุ่งสู่ภาคใต้ของไทยได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จากปัจจุบันปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวัน ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลง 25% และสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวงได้ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ได้มีการจัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด ดังนั้นสะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงมาก อีกทั้ง ยังมีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบพฤติกรรมสะพาน เพื่อกำกับดูแลสะพานให้เกิดความปลอดภัยด้วย จึงเชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นสะพานที่ปลอดภัย โดยได้มอบให้ กทพ. พิจารณาติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ฯ กับสะพานอื่น ๆ ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า เมื่อเปิดให้บริการสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แล้ว กทพ. มีแผนจะปิดให้บริการสะพานพระราม 9 ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันในปี 68 เพื่อซ่อมบำรุงหลังจากที่เปิดใช้งานมาอย่างยาวนาน ในโอกาสนี้จะติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ฯ เพื่อกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของสะพานด้วย อย่างไรก็ตาม กทพ. ได้เตรียมแผนการซ่อมบำรุงสะพานพระราม 9 ไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาปิดซ่อมสะพานประมาณ 1 ปี.