สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่า สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมายในการอนุรักษ์และรับประกันการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ภายใต้การหารือเป็นเวลา 15 ปี บรรลุหลังจากการเจรจาที่นำโดยยูเอ็น ซึ่งยืดเยื้อนาน 5 รอบ สิ้นสุดลงในนครนิวยอร์ก เพียง 1 วันหลังกำหนดเวลาเดิม

สนธิสัญญาดังกล่าวถูกมองว่า เป็นองค์ประกอบสำคัญในความพยายามระดับโลก เพื่อทำให้พื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลก 30% อยู่ภายใต้การคุ้มครองภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือที่เรียกว่า “เป้าหมาย 30×30”

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ ตลอดการเจรจารอบล่าสุด โดยบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วเรียกร้อง ให้มีการแบ่ง “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” มากขึ้น รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งข้อตกลงในการแบ่งปันผลประโยชน์ของ “ทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลที่ใช้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ยังคงเป็นประเด็น ซึ่งมีการถกเถียงกันจนถึงที่สุด

ด้านกลุ่มสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” กล่าวว่า พื้นที่มหาสมุทร 11 ล้านตารางกิโลเมตร จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองทุกปี จนถึงปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมาย ทว่ามีพื้นที่ทะเลหลวงเพียงส่วนน้อยที่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ ขณะที่มลพิษ, ความเป็นกรด และการประมงเกินขนาด เป็นภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้น

“ประเทศต่าง ๆ ต้องนำสนธิสัญญามาใช้อย่างเป็นทางการ และให้สัตยาบันโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงส่งมอบเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลที่ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ตามที่โลกของเราต้องการ” นางลอรา เมลเลอร์ นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของกรีนพีซ กล่าว.

เครดิตภาพ : REUTERS