สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า นายปาร์ค จิน รมว.การต่างประเทศเกาหลีใต้ แถลงเมื่อวันจันทร์ เสนอการมอบค่าชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการบังคับใช้แรงงานและการเป็นหญิงบำเรอ ในช่วงการยึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น ระหว่างปี 2453-2488 ผ่านองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งได้ความสนับสนุนจากบริษัทเอกชนในเกาหลีใต้

นักเคลื่อนไหวและทายาทของผู้ได้รับผลกระทบชาวเกาหลีใต้ จากการบังคับใช้แรงงานโดยญี่ปุ่นในสมัยสงคราม ชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ในกรุงโซล 6 มี.ค. 2566


อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง หน้ากระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงโซล แสดงควาไมม่พอใจต่อมาตรการดังกล่าวว่า เป็น “ชัยชนะของญี่ปุ่น” เนื่องจากไม่มีการกำหนดเงื่อนำขอย่างเจาะจง ให้บริษัทของญี่ปุ่น โดยเฉพาะหน่วยงานที่ศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้ร่วมรับผิดชอบ เข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุนนี้ แม้รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ “แสดงความหวัง” ภาคเอกชนของญี่ปุ่น “จะสมัครใจเข้ามามีส่วนร่วม”


ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อการประกาศของรัฐบาลโซล “เพื่อคลี่คลาย” ข้อพิพาทเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานสมัยสงคราม ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีตึงเครียดและตกต่ำลงไปอีก เมื่อศาลของเกาหลีใต้มีคำพิพากษา เมื่อปี 2561 ให้บริษัทของญี่ปุ่นหลายแห่ง จ่ายค่าชดเชยเพื่อเยียวยา ให้กับชาวเกาหลีใต้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้แรงงาน


อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ นำสารของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มามอบให้แก่เกาหลีใต้ เป็นการแสดงความขอโทษอย่างจริงใจ ต่อกรณีหญิงบำเรอ และรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความรับผิดชอบด้วยการตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 1,000 ล้านเยน ( ราว 254.14 ล้านบาท ) เพื่อเยียวยาหญิงบำเรอชาวเกาหลีที่ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ รัฐบาลโซล ยืนยันว่า ข้อตกลงดังกล่าวที่เห็นพ้องร่วมกับญี่ปุ่นถือเป็นอันสิ้นสุด และจะไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงอีก.

เครดิตภาพ : REUTERS