นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ภาครัฐกำลังศึกษาตัวเลขที่เหมาะสมของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) หลังจากปรับค่าเอฟที ภาคธุรกิจขึ้นมา 13% ในงวดแรก (ม.ค.- เม.ย.) เป็น 5.33 จากเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ภาคครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอเสนอแนะมุมมองในการบริหารค่าเอฟที ไฟฟ้า ในงวดใหม่ต่อภาครัฐ ดังนี้
- ปรับลดค่า FT ของภาคธุรกิจให้กลับมายืนราคาไม่เกิน 93 สตางค์ เพื่อให้ค่าไฟฟ้า ของภาคธุรกิจ ไม่สูงกว่า 4.72 บาทต่อหน่วย เหมือนงวดสุดท้ายปี 65 (ก.ย.-ธ.ค.) เนื่องจากมีปัจจัยบวก ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ค่าพลังงาน ก๊าซแอลเอ็นจี, ดีเซล, น้ำมันเตา และอื่น ๆ ที่ลดลงของตลาดโลก, ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (NG) ที่จะมี Supply มากขึ้นในกลางปีนี้ ตามลำดับ
2. การสนับสนุนจาก ภาคนโยบาย และ ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องจัดสรร NG จากอ่าวไทย มาผลิตไฟฟ้าภายในประเทศให้เต็มที่ รองรับ peak load ในช่วงฤดูร้อนนี้ มากกว่าไปสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการส่งออก และมีทางเลือกอื่นรองรับ
3. ภาคครัวเรือน ของประชาชน ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าไฟฟ้า แพงกว่าเดิม ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ที่ภาครัฐเคยตรึงราคา ด้วยภาคอุตสาหกรรม ก็ห่วงใยผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเช่นกัน
4. การชำระหนี้ ตลอดจนปัญหาสภาพคล่องของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับผิดชอบการผลิตและราคาไฟฟ้า ถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ก็ควรประคองการคืนหนี้จากค่าเอฟที ในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยสถานการณ์ที่ต้นทุนพลังงานลดลงตามลำดับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเร่งคืนหนี้ให้ กฟผ. จากค่าเอฟที เมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ที่กำลังเจอภาวะการชะลอตัวจากการส่งออกตามภาวะตลาดโลก
“เรามองว่า ปัญหาวิกฤติพลังงานและค่าไฟฟ้าของประเทศครั้งนี้ ได้หมักหมมปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำของประเทศไว้มากมาย เราเร่งรอวันที่จะมีผู้รับผิดชอบ ที่กล้าหาญ และจริงใจ ในการหาทางออก ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่ เราไม่อยากเห็นภาวะที่เอกชน และประชาชน ต้องมานั่งลุ้นและภาวนา ตลอดจนพึ่งพิงปัจจัยบวกของค่าไฟฟ้า จากราคาพลังงานโลก ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ทั้ง ๆ ที่เรายังมีทางออกที่สามารถพึ่งพิงตัวเอง และป้องกันความเสี่ยงได้อย่างมากมายตามข้อเสนอที่เคยเสนอไปทั้งหมด แต่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและจริงจังจากผู้รับผิดชอบ” นายอิศเรศ กล่าว.