เมื่อเวลา 13.20 น. วันที่ 8 มี.ค. 66 นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาชิกพรรค ปชป. ที่ออกไปอยู่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง ระบุว่า มีการซื้อเสียงกรรมการบริหารพรรค 200 ล้าน ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์หรือไม่ ตรงนี้ยอมรับว่ามีแน่นอน เรื่องที่เป็นด้านลบก็กระทบ แต่ในระบบพรรค ปชป. สมาชิกต้องมีความรู้สึก ระลึกถึงบุญคุณพรรค การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในพรรคไม่เคยใช้เงิน ทั้งนี้ตนยืนยันได้ว่า การเป็นรัฐมนตรีไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท เช่น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีต รมว.คลัง นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดังนั้น คนในพรรคต้องมีความรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่พรรคให้ เช่น การให้เกียรติ

“ผมมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ระบบพรรค ปชป. ที่ยอมรับเสียงข้างมากว่าคนไหนเหมาะสม ผมใช้เวลาพิสูจน์ 22 ปี ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวหน้าพรรคได้ เมื่อชนะเลือกตั้ง ผมได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้จ่ายเงินสักบาท บุญคุณเหล่านี้ ในชีวิตนี้ก็ใช้ไม่หมด การที่มาจากเลือกตั้งโดยไม่ใช้เงิน บุญคุณที่มีกับชาวบ้านในชีวิตนี้ก็ใช้ไม่หมด ผมจึงคิดว่าในช่วงปลายของชีวิตผม จะเดินทางไปเยี่ยมเพื่อขอบคุณคนที่เคยช่วยเหลือผมที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการตอบแทนผ่านการทำงานอย่างซื่อสัตย์ และสุจริต ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คนในพรรค ปชป. ต้องระลึกว่า คุณได้อะไรไปจากพรรคบ้าง”

นายชวน กล่าวต่อไปว่า เราต้องยอมรับว่าพรรค ปชป. ภาพลักษณ์ และความมีชื่อเสียงไม่เหมือนเดิม จึงมีสมาชิกออกไปหลายคน แต่คนประเภทอย่างพวกเราไม่มีวันไปไหน และอยู่ช่วยหาเสียง ส่วนจะได้ ส.ส. กี่คนก็ต้องทำให้สุดความสามารถ เมื่อสภาพพรรคเป็นเช่นนี้ ก็ต้องให้กรรมการบริหารพรรคหาทางช่วยหัวหน้าพรรค เพราะเป็นหนึ่งในคนที่เลือกหัวหน้าพรรค ตนได้บอกกับสมาชิกหลายคนว่าถ้าเราไม่อยากเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ก็ต้องให้โอกาสเขา ในเดือน พ.ค. 66 นี้ ครบวาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ครบ 4 ปี แต่อย่าไปทำอะไรในระหว่างที่ทำงานหนักอยู่ในความเห็นของตนนั้น นายจุรินทร์ ซึ่งเคยเป็นเลขาฯ ตนมาก่อน เป็นคนเก่งคนหนึ่ง

“แต่ผมแปลกใจว่าเวลามีการหยั่งเสียง และผลโพลที่ออกมา ทำไมนายจุรินทร์ จึงอยู่ในลำดับท้าย ๆ แม้ตอนนี้จะขยับขึ้นมาหน่อย ไม่เช่นนั้นทั้งผม ทั้งนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค จึงหนุนให้ นายจุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปชป. เพราะเรามองว่าคนคนนี้ น่าจะนำพรรคไปได้ ถ้าพรรคโดดเด่นเสียงดี ผมเป็น ส.ส.มา 16 สมัย ก็อาจจะพอ แต่เมื่อพรรคเป็นแบบนี้ เราต้องมาช่วยกัน เมื่อมีการยุบสภาแล้วผมจะช่วยเต็มที่”

นายชวนยังกล่าวถึงกรณีมี ส.ส. แอบเล่นการพนันในบริเวณห้องพัก ส.ส. ที่ผ่านมาว่า ในส่วน ส.ส.ที่เล่นการพนัน ก็อย่าไปมองว่าทุกคนจะเป็นอย่างนั้น เพราะนั่นคือพฤติกรรมส่วนตน บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่เรื่องนี้ต้องพูดว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมมือด้วย จึงได้บอกนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปว่า กรณีเช่นนี้ต้องว่ากล่าวตักเตือน เจ้าหน้าที่ ที่อาจจะได้ประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จาก ส.ส. คนนั้น ในสภามีเรื่องบวกและลบเสมอ แต่หากเกิดอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ให้จัดการเด็ดขาดตามกฎหมาย

สำหรับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยรวมถือว่าใช้ได้ แต่เกิดปัญหาในช่วงปลายสมัยประชุม ที่มีปัญหาในเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ทำให้เสียโอกาส ในการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองหลายฉบับ แต่โชคดีที่สภาชุดนี้ขยันตั้งแต่ช่วงปีแรก แม้ว่าจะต้องเผชิญกับ โควิด-19 ก็ตาม ทำให้กฎหมายรัฐบาล ไม่ค้างสภา แต่มาค้างในช่วงท้าย ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก็ผ่านได้ทุกเรื่อง ยกเว้นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ที่ ส.ว. มาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ด้วยความรู้สึกว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายโจมตีวุฒิสภา   

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนของการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสุดท้ายของการประชุม ส.ส. ส่วนใหญ่ เห็นว่าผลการหารือกว่า 80% ได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่ค่อยได้ยิน ตนจึงบอกว่าต้องไปขอบคุณฝ่ายบริหารด้วย ทั้งนี้เราได้ปรับเปลี่ยนระบบการส่งเรื่องไปยังฝ่ายบริหารด้วยระบบอิเคทรอนิกส์ ซึ่งได้ผล ไวขึ้น แต่สิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้คือกระทู้ถาม ที่ได้ยินว่ารัฐบาลไม่มาตอบกระทู้ ตนจึงบอกว่าอยากให้เปรียบเทียบกับในอดีต พบว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันตอบกระทู้ได้มากกว่าในอดีตมาก ส่วนเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยทำคือกระทู้ถามสดด้วยวาจา ซึ่งรัฐมนตรีจะไม่รู้ตัวก่อน ดังนั้นบางท่านจึงไม่ได้เตรียมตัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยสรุปคือการทำงานของสภาชุดนี้ ตลอด 4 ปี ผ่านไปได้ด้วยดีพอสมควร แต่ตนเสียดายตอนหลัง เพราะขนาดตนทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้วยตัวเอง เพื่อแนะนำให้หารือพรรคร่วมรัฐบาล แล้วถามว่าพรรคไหนส่ง ส.ส. เข้าประชุมกี่คน เพื่อให้การทำงานในสภา ไม่มีปัญหา ซึ่งตนทราบว่านายกรัฐมนตรี ช่วยพูดให้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความร่วมมือ

เมื่อถามว่า กรณีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ เกี่ยวข้องกับการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า รัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา ก็เป็นรัฐบาลผสม แต่ชุดนี้ผสมเยอะ กว่า 10 พรรคการเมือง ซึ่งมีปัญหาในช่วงหลังของการทำงาน ตนเข้าใจว่าเป็นเพราะ 1.นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็น ส.ส. ซึ่งท่านจะมาสภาฯเฉพาะวันอภิปราย ไม่ไว้วางใจ หรือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เท่านั้น 2.หัวหน้าพรรคที่เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ดังนั้น เวลาถามหาผู้รับผิดชอบในเรื่อง “องค์ประชุม” เหลียวซ้ายแลขวาก็หาตัวยาก ในส่วนของวิปหรือผู้ควบคุมเสียง เราก็ต้องเห็นใจเขา เพราะควบคุมองค์ประชุมยาก ซึ่งพยายามแล้วแต่ความร่วมมือก็ไม่พอ บางพรรคการเมืองก็โกธรที่ญัตติของตัวเองไม่ผ่าน จึงแสดงการตอบโต้ด้วยการไม่เข้าร่วมประชุมสภา แต่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้มาคุยกับตนว่าการอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดบัตรแสดงตน เพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งตนให้เจ้าหน้าที่นับในห้องประชุมก็ปรากฏว่า ครบองค์ประชุม เพียงแต่ไม่ได้เสียบบัตรแสดงตน.