ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ‘คิวริออซิตี’ ขององค์กรการบินและอวกาศสหรัฐ หรือ ‘นาซา’ ส่งภาพถ่ายบรรยากาศและท้องฟ้าบนดาวอังคาร กลับมายังศูนย์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพแสงจากรังสีของดวงอาทิตย์ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าเหนือดาวอังคารอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก 

นาซา เพิ่งนำภาพความสวยงามของท้องฟ้าดาวอังคาร ที่มีเสน่ห์แบบลึกลับเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในภาพจะเห็นว่า กลุ่มเมฆนั้นลอยอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเมฆที่เกิดจากน้ำแข็งแห้งหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในรูปของน้ำแข็ง ขณะที่แสงจากดวงอาทิตย์ ส่องผ่านกลุ่มเมฆ ทำให้ดูเหมือนเมฆกำลังเรืองแสงในโทนสีชมพูและเขียว 

ยานคิวริออซิตี ยังจับภาพเมฆก้อนใหญ่ลอยตัวอยู่บนท้องฟ้า ที่มีลักษณะคล้ายขนนกขนาดใหญ่ มีสีเหลือบสลับระหว่างสีชมพู เขียวและฟ้า คล้ายสีเหลือบรุ้งของเปลือกหอยมุก

มาร์ค เลมมอน นักศึกษาบรรยากาศศาสตร์ อธิบายว่า ส่วนที่เป็นสีเหลือบรุ้งนั้น หมายถึงอนุภาคของเมฆมีขนาดเท่ากันในแต่ละส่วน เมื่อสีเหลือบที่เราเห็นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หมายถึงว่า อนุภาคเริ่มมีการเปลี่ยนขนาดในกลุ่มเมฆ ซึ่งเป็นข้อมูลในการศึกษาว่า เมฆบนดาวอังคารนั้น ก่อตัวขึ้นได้อย่างไร และอนุภาคเหล่านี้ เปลี่ยนขนาดตัวเองได้อย่างไร

ภาพเหล่านี้ เป็นการประกอบขึ้นจากภาพชุด 28 ภาพ ที่ยานคิวริออซิตีส่งกลับมายังโลก และผ่านการปรับแต่ง เพื่อเน้นให้เห็นส่วนสำคัญ

เมฆเป็นสิ่งที่พบได้ยากบนดาวอังคาร เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศมากนัก ความหนาแน่นของอากาศบนดาวอังคารนั้น เทียบได้เพียง 1% ของความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศโลก เมฆบนดาวอังคารมักจะเกิดขึ้นใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวในช่วงเวลาที่หนาวเย็นที่สุดของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารโคจรออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุดในรอบปี

แหล่งข่าว : businessinsider.com

เครดิตภาพ : mars.nasa.gov