จากกรณี 2 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราหรือไม่
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ในฐานะอดีต รมว.คลัง ที่สามารถฝ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จนทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อปี 53 กล่าวถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวว่า ปรากฏการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่จากบทเรียนในอดีตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการวางแผนรองรับไว้อย่างดี ส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงอยากให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน
นายกรณ์ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาต่อการล่มสลายของธนาคาร SVB ว่า SVB ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี แต่มาเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติโควิด เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสายเทคถึง 30,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้ากระจุกตัวอย่างมาก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 จากเดิมที่มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 50,000 ล้านดอลลาร์ ณ ช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งเร็วกว่าคนสถาบันการเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น เหตุผลเกิดจากช่วงโควิด-19 มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการระดมทุนของบริษัทสายเทคบูมมาก มีเงินไหลเข้า SVB มาก จนปล่อยกู้ไม่ทัน จึงนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในอดีตสามารถทำได้
แต่โดยปกติธนาคารต้องมีความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินลงทุน และส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก SVB จึงนำเงิน 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 10 ปี เพื่อหวังผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พอลงทุนไปก็เกิดปรากฏการณ์หลายเรื่องพร้อมกัน จนนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่าพอช่วงโควิด-19 ผ่านไป ราคาหุ้นของลูกค้า SVB เริ่มปรับลดลง เริ่มมีการถอนเงินฝากในปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีนโยบายออกมาต่อสู้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ของเงิน แต่อัตราการปรับเพิ่มขั้นดอกเบี้ยถึง 4% ส่งผลกระทบต่อการลงทุนพันธบัตรที่ธนาคารไปลงทุนไว้ ทางการเงินเรียกว่าขาดทุนทางบัญชีเนื่องจากยังไม่ได้ขาย เพราะหากฝากไว้ครบ 10 ปี ยังได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ แต่ SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จึงทำให้เกิดภาวะขาดทุนจริงถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงมาก เป็นสาเหตุต้องพยายามเพิ่มทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ ทำให้ลูกค้าธนาคารเริ่มเกิดความกังวลจนแห่ไปถอนเงิน จนเงินหมด ทำให้เฟดต้องเข้ามาจัดการโดยการปิดกิจการ SVB ในที่สุด
นายกรณ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโจ ไบเดน ออกมาย้ำเพื่อความมั่นใจว่ารัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝาก 100% ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะถอนเงินได้หรือไม่ เพราะหากถอนไม่ได้ ผลข้างเคียงจะส่งผลต่อผู้ประกอบกิจการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพ ไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และชำระหนี้สินได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอาจกระทบจนถึงขั้นปิดกิจการได้ อาจจะลามไปถึงการแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงินอื่น ๆ สร้างปัญหาเป็นวงกว้างทั้งระบบ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายไบเดนพูด รัฐบาลค้ำประกันเฉพาะผู้ฝากแต่ไม่ค้ำประกันผู้ถือหุ้น เจ้าของพันธบัตรหรือเจ้าหนี้ของตัวธนาคาร และเป็นการใช้เงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเท่านั้น ไม่กระทบต่อภาษีประชาชนแต่อย่างใด เป็นการส่งสัญญาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้งที่ส่งผลต่อคะแนนนิยม แต่ทั้งนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีเงินเพียง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าทุกคนยังแห่ถอนเงินก็ไม่เพียงพอ เวลานี้จึงต้องรอดูว่าจะมีใครมาซื้อกิจการของ SVB ของสหรัฐ เหมือนที่ HSBC ซื้อกิจการ SVB ในอังกฤษไปแล้วในราคา1 ปอนด์
โดยในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในบริเวณ ซิลิคอนวัลเลย์สูง เนื่องจากสตาร์ทอัพเกือบทุกรายใช้บริการ SVB ที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่เข้าใจมายาวนาน วันนี้ต้องไปคุยกับสถาบันการเงินอื่นที่เข้าใจน้อยกว่า ทำให้ความได้เปรียบการเข้าถึงแหล่งทุน เมื่อเทียบกับที่อื่นในโลกลดลง ยกเว้นว่าจะมีใครไปซื้อและดำเนินการทำธุรกิจในวัฒนธรรมเดิมกับกลุ่มลูกค้าเดิม อาจไม่ส่งผลมากนัก แต่หากไม่มี หรือมีชุดความคิดที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพ ที่ซิลิคอนวัลเลย์เริ่มหมดเสน่ห์ หรือขีดความสามารถในการแข่งขันที่เคยได้เปรียบก็จะลดลง แต่สำหรับประเทศไทย ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีเพียงบางกองทุนที่ไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งพวกนั้นถือพันธบัตรของ SVB บ้างแต่น้อยมากเจ้าสูงสุดก็เพียง 4% กว่า ไม่สามารถส่งผลกระทบกับระบบการเงินของไทยได้เลย
“วันนี้ผมขอพูดได้เลยว่า สถาบันการเงินไทยเข้มแข็งมาก สัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเข้มแข็งกว่าสถาบันการเงินใดในโลก เขาตั้งเกณฑ์ไว้ 12% ไทยเรามีสัดส่วน 16-18% ด้วยซ้ำไป และยังมีการคุ้มครองเงินฝาก โดยธนาคารจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากมาโดยตลอดเพื่อเก็บไว้คุ้มครองคนไทย ที่รายละ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงินอีกด้วย ถ้าถามว่าปรากฏการณ์ SVB ให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทย คำตอบคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยได้สรุปบทเรียนและวางแผนไว้อย่างรัดกุมแล้ว ไม่ต้องห่วงและไม่ต้องไปถอนเงิน” อดีต รมว.คลัง กล่าว