เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า วันนี้มีประชาชนที่หายป่วยจากโรคโควิด 20,535 คน มีผู้หายป่วยสะสม 936,893 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,984 คน ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ 18,182 คน มีผู้เสียชีวิต 292 คน ยอดเสียชีวิตสะสมเฉลี่ย 7 วัน 256 คน  สำหรับผู้ที่ติดเชื้อสะสมในการระบาดระลอก เม.ย. อยู่ที่ 1,128,692 คน จากการติดตามสถานการณ์แนวโน้มการติดเชื้อและการระบาดภาพรวมของประเทศเริ่มมีการชะลอตัวลดลงค่อนข้างเห็นชัด ซึ่งจากตัวเลขการติดเชื้อการตรวจเชิงรุก ผู้ป่วยหนักใน รพ.ต่างๆ ก็เป็นแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด กทม. ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับ 4,000 กว่ามาเป็นสัปดาห์แล้ว ภาพรวมถึงแม้ว่าจะไม่พุ่งสูงขึ้นมากอย่างที่เรากังวล แต่ก็มีแนวโน้มที่ต้องระมัดระวังและขอความร่วมมือการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ จากพี่น้องประชาชน และองค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่ปริมณฑลและภาคกลางบางส่วน เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ตัวเลขยังอยู่ในระดับหลักพันต่อวันมาตรการต่างๆ จึงต้องต่อเนื่อง ส่วนในต่างจังหวัดมีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากการที่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การระบาดกลับบ้านในต่างจังหวัด ทั้งไปเยี่ยมญาติทั้งที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อแล้ว และคนที่ทราบแล้วกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งขอความร่วมมือให้ประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้มถ้ากลับไปต่างจังหวัดก็ขอให้ระมัดระวังแจ้งหน่วยงานในสาธารณสุขในพื้นที่ให้รับทราบ เพื่อเฝ้าระวังและกักตัวตามมาตรการในแต่ละพื้นที่ด้วย

นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้จากการที่เราติดตามสถานการณ์การตรวจหาเชื้อด้วยชุด ATK เดิมเราพบว่าการตรวจด้วยชุด ATK ในจุดต่างๆ ทั่ว กทม.มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงระดับเกินร้อยละ 10 ขึ้นไป แต่ระยะหลังเริ่มพบแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ถึงแม้สถานการณ์การติดเชื้อจะชะลอตัวลง แต่ยังมีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงอยู่ ดังนั้นจึงต้องติดตามการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด

นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีน ในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมา มีรายงานการฉีดวัคซีนทั้งหมด 915,738 โด๊ส โดยแบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 547,128 โด๊ส เข็มที่ 2 จำนวน 361,284 โด๊ส และเข็มที่ 3 จำนวน 7,326 โด๊ส ภาพรวมขณะนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 30,420,507 โด๊ส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 22,617,701 คน คิดเป็นร้อยละ 31 ของเป้าหมาย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวน 7,221,368 คน คิดเป็นร้อยละ 10 จะเห็นว่ามีแนวโน้มการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสูงขึ้นในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเรามีวัคซีนเข้ามามากขึ้น และทุกอย่างเป็นไปตามแผน ซึ่งตั้งแต่เดือน มิ.ย.–ส.ค. เรามีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโด๊ส ดังนั้นจึงถือว่าเดือน ส.ค.เราทำได้เกินเป้าหมาย เพราะจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะซิโนแวค แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ สามารถนำเข้ามาได้รวม 13.8 ล้านโด๊ส แลมีวัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามา ยอดการฉีด ส.ค.จึงสูงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงต้องเร่งนำวัคซีนเข้ามาและเร่งรัดฉีดต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงป่วยอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ขณะนี้ฉีดเข็มแรกประมาณ 40% ของเป้าหมาย รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เมื่อไปฝากครรภ์ตาม รพ.ต่างๆ ขอรับการฉีดได้ที่ รพ.ฝากครรภ์ ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีน 30 กว่าล้านโด๊ส ยังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรงจากการประเมินตรวจข้อมูลการชันสูตรศพรายที่เสียชีวิตของผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นวัคซีนมีความปลอดภัย ทั่วโลกฉีดหลายพันล้านโด๊ส ข้อมูลตรงกันว่าความปลอดภัยมีค่อนข้างสูงตามมาตรฐานกำหนดไว้ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขอให้กลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนตามที่กำหนดและนัดหมาย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยปี 2564 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผน 100 ล้านโด๊สในปี 2564 ครอบคลุม 50 ล้านคน ประมาณการณ์จัดหาวัคซีน ก.ย.-ธ.ค.นี้ แบ่งเป็นซิโนแวค จะมีเข้ามา ก.ย.-ต.ค. เดือนละ 6 ล้านโด๊ส, แอสตราเซเนกา เข้ามา ก.ย. 7.3 ล้านโด๊ส ส่วน ต.ค.-ธ.ค.อาจส่งมอบได้มากขึ้น ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ก.ย. ถือเป็นสัญญาณที่ดี และไฟเซอร์ได้รับการแจ้งแบบไม่เป็นทางการน่าจะเข้ามาปลาย ก.ย.นี้ 2 ล้านโด๊ส และมีคำมั่นสัญญาจะส่งให้ได้ 30 ล้านโด๊สตามที่ลงนามสัญญาภายในสิ้นปีนี้

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปอีกว่า ดังนั้นจะมียอดการจัดหาวัคซีน 3 วัคซีนหลัก 124 ล้านโด๊ส เกินเป้าหมายที่กำหนด ศักยภาพการฉีดที่เห็นช่วงหลัง มากกว่า 6 แสนโด๊สต่อวัน เชื่อว่าน่าจะฉีดได้ตามเป้าหมาย ยังมีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมาเรื่อยๆ ยอดการฉีดก็จะเพิ่มขึ้นไป รวมถึงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับเอกชนหลายแห่งนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา น่าจะมาได้ไตรมาส 4 ปีนี้ ประมาณการณ์เกินกว่า 100 ล้านโด๊ส ก็น่าจะบรรลุเป้าหมาย ขอให้ประชาชนสบายใจ ส่วนกลุ่มใดฉีดก่อนหลังเป็นไปตามคำแนะนำคณะกรรมการทางการแพทย์และสาธารณสุข ขอให้ไปรับวัคซีนเพื่อประเทศเราปลอดภัยจากโควิดมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม และมีผลตรวจว่าปลอดโควิดแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการกักตัวหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเทศไทยยังกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศกักตัว 14 วัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากหลายประเทศ คือ 1.การฉีดวัคซีนสามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ถึงแม้จะไม่ 100% 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะๆ จะสามารถทำให้เราตรวจหาผู้ติดเชื้อและไม่มีอาการได้ ซึ่งหลายประเทศใช้มาตรการนี้ประกอบในการลดวันกักตัวลง สำหรับประเทศไทยในกรณีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เราให้ชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบและมีการตรวจเป็นระยะสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับคนปกติในช่วงกักตัว 14 วัน และสามารถไปไหนมาไหนได้ ตรงนี้จะเป็นข้อมูลที่ทางผู้เกี่ยวข้องคงนำมาประเมินอีกครั้งและพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการลดวันกักตัวลง อย่างไรก็ตามก็รอการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่าการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เราใช้ตัวเลขร้อยละ 70 แต่ตอนนี้มีสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นกับหลายปัจจัย เชื้อโรคมีการกลายพันธ์ตลอดเวลา การคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามการกลายพันธุ์ นอกจากนั้นยังขึ้นกับแต่ละพื้นที่ว่าแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน นำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งตามแผนเดิมเราคิดตัวเลขการฉีดวัคซีนร้อยละ 70 หรือประชากร 50 ล้านคน โดยนโยบายของรัฐบาล ถ้าประชาชนคนไทยรวมทั้งคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยต้องการฉีดวัคซีน รัฐบาลก็จะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับทุกคนด้วยความสมัครใจ ถ้าดูตามตัวเลขในสิ้นเดือน ธ.ค.แผนการจัดหาวัคซีนของเราจะอยู่ที่ 140 ล้านโด๊ส ตามตัวเลขนี้เราก็สามารถฉีดให้กับประชาชนทุกคนในประเทศได้อยู่แล้ว และเชื่อว่าฉีดได้เกินร้อยละ 70 แน่นอน ส่วนตัวเลขการเกิดภูมิคุ้มกันใหม่จะอยู่ที่เท่าไรนั้น ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่ามาตรการโควิดฟรีของ ศบค.จะเป็นการบังคับหรือเป็นการขอความร่วมมือก่อน นพ.โอภาส กล่าวว่า มาตรการในการรับมือกับโควิด มี 2 ส่วน คือ มาตรการส่วนบุคคลกับมาตรการองค์กร เนื่องจากมาตรการที่เราดำเนินการไป บางมาตรการจะเป็นในเชิงบังคับ เช่น เคอร์ฟิว การจำกัดคนที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน อีกมาตรการเป็นมาตรการเชิงขอความร่วมมือ ทุกมาตรการที่ออกไปจะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ในอนาคตข้างหน้าถ้าเราจะอยู่ร่วมกับโรคโควิดตามที่ได้วางโรดแม็พเอาไว้ ความร่วมมือของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมาก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้งนี้มาตรการใหม่ที่เรากำลังดำเนินการในประเทศไทยคือการตรวจด้วย ATK จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน และปริมาณการตรวจที่มากพอ ดังนั้นถ้ามาตรการนี้เป็นเชิงบังคับทันที ตนคิดว่าคงจะไม่สามารถทำได้และเกิดความไม่สะดวกกับประชาชน ดังนั้นในเดือน ก.ย.ก็จะเป็นมาตรการในเชิงให้คำแนะนำของความร่วมมือมากกว่า แต่หลังจากที่เราคุ้นกับมาตรการนี้แล้ว พี่น้องประชาชนทำได้ยอมรับได้ รวมถึงมีการฉีดวัคซีนและตรวจด้วยชุด ATK มากพอซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นเดือน ต.ค. ก็จะเป็นมาตรการที่เป็นมาตรฐานที่ทุกหน่วยงานร่วมกันทำและประชาชนให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ซึ่งมาตรการที่ออกมา แม้เราไม่ได้บังคับแต่ทางสมาคมและผู้เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามมาตรการนี้.