เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 400 เขตทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงใน จ.สุโขทัย ว่า ตนถือว่าเป็นการแบ่งเขตที่พิสดาร และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายเลย โดยตนขออธิบายดังนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. นั้น กฎหมายได้กำหนดวิธีการแบ่งไว้มาตราเดียว คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 คือ1. สิ่งหนึ่งที่กฎหมายกำหนดในการแบ่งเขตเลือกตั้งคือ การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน แต่จากการแบ่งเขตเลือกตั้ง จ.สุโขทัย ของ กกต. ในครั้งนี้ ปรากฏว่า เขตเลือกตั้งที่ 3 กกต. นำเอาพื้นที่ของ อ.ศรีสำโรง และ อ.เมือง ไปรวมกับพื้นที่ของ อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.สวรรคโลก ซึ่งในอดีต อำเภอเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในเขตเลือกเดียวกันมาก่อน นี่คือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. อันผิดต่อกฎหมายในข้อที่ 1
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า 2. หลักของการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม มาตรา 27 (1) คือ ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ถ้ารวมอำเภอแล้วมีราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ก็ให้แยกตำบลของอำเภอนั้นออก หมายความว่า ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ต้องยึดเขตอำเภอเป็นหลักก่อน ในเขตนั้นเมื่อมีอำเภอหลักแล้ว จึงแบ่งย่อยตำบลของอำเภออื่นมาเสริม แต่การแบ่งเขต ส.ส. ของ จ.สุโขทัย ในครั้งนี้ กกต.กลับเอาแต่ละตำบลของหลายๆ อำเภอมายำรวมกันในเขตเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 3 จึงผิดหลักการของกฎหมายอย่างยิ่ง

นายสัมพันธ์ กล่าวว่า 3.หลักกฎหมาย มาตรา 27 (2) การแบ่งแยกตำบลนั้นให้คำนึงถึงชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะการเป็นชุมชนเดียวกัน การยิ่งแบ่งหลายอำเภอในเขตเลือกเดียว จึงยิ่งขัดต่อกฎหมายมาตรานี้ เพราะลักษณะการเป็นชุมชนเดียวกัน โดนเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรในพื้นที่คุ้นชินกับการติดต่อราชการภายในอำเภอเดียวกันมากกว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งจึงต้องคำนึงถึงการแบ่งแยกอำเภอให้น้อยที่สุด และ 4. การแบ่งเขตเลือกตั้งในรูปแบบที่ 3 เป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นไปตามกฎหมายมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่เคยอยู่ในเขตเลือกเดียวกันมาก่อนเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 และเป็นการแบ่งแยกอำเภอน้อย อำเภอมาก มีอำเภอหลักในแต่ละเขตเลือกตั้ง และนำตำบลอื่นมาประกอบเพื่อให้จำนวนราษฎรใกล้เคียง
“ผมไม่กลัวเลยว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นรูปแบบไหน เพราะผมลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปี แต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต. ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่แบ่งตามใจตัวเองหรือตามใครสั่งมา เพราะฉะนั้น เมื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งพิสดารแบบนี้ ผมจึงจำเป็นต้องพึ่งบารมีศาล โดยจะไปยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดในวันจันทร์ที่ 20 มี.ค. นี้ ให้การแบ่งเขตของ จ.สุโขทัย ในครั้งนี้เป็นโมฆะ และหากศาลสั่งให้เป็นโมฆะ คงต้องฟ้อง กกต. ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีปฏิบัติหน้าที่อันมิชอบ และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป แล้วเจอกันที่ศาลปกครองสูงสุด” นายสัมพันธ์ กล่าว