สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ ) เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ "การพบความเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ" และต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ภายในนิคมนิวเคลียร์ยองบยอน ซึ่งไอเออีเอเชื่อว่า สามารถผลิตพลูโตเนียมเกรดอาวุธได้ โดยนับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2561 โดยหนึ่งในจุดสังเกตสำคัญคือการระบายน้ำหล่อเย็น
ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีระบุว่า ชนิดของพลูโตเนียมที่เหมาะสมสำหรับการผลิตระเบิดนิวเคลียร์นั้น ต้องสกัดซ้ำมาจากแท่งเชื้อเพลิงปรมาณูที่ผ่านการใช้งานแล้ว สำหรับศูนย์ปฏิบัติการนิวเคลียร์ยองบยอนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ ห่างจากกรุงเปียงยางประมาณ 90 กิโลเมตร 
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 เกาหลีเหนือเคยหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์ในนิคมยองบยอน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และสหรัฐ ตามข้อตกลงร่วมกัน แต่กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งเมื่อปี 2556 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเปียงยางไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2552 หมายความว่า ผลการวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์ นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน อาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน สถานที่แห่งนี้ยังคงเป็น "เงื่อนไขและการตั้งข้อต่อรอง" ทางการทูตและความมั่นคง ระหว่างเกาหลีเหนือ กับสหรัฐและเกาหลีใต้ โดยนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ กล่าวระหว่างการพบหารือกับประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ผู้นำเกาหลีใต้ เมื่อปี 2561 ว่ารัฐบาลเปียงยางพร้อมปิดนิคมนิวเคลียร์ยองบยอน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐบาลวอชิงตัน "มีมาตรการที่สอดคล้องกัน" แต่สหรัฐยืนกรานว่า จุดยืนเรื่องคาบสมุทรเกาหลีไม่มีทางเปลี่ยนแปลง นั่นคือกระบวนการปลดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือต้อง "เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์" แล้วรัฐบาลวอชิงตันจะดำเนินการขั้นต่อไป.  

เครดิตภาพ : AP