เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 27 ก.ค. 64 เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัติวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตราส่วน 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 เป็นต้น

นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าวต่อไปว่า ตนในฐานะภาคประชาชนและติดตามการทำงานในภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองและนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดย สถาบันการศึกษา ซึ่งทั้งประเทศ มี 23 แห่ง และปัจจุบันมีนักศึกษากำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีกว่า 13,000 คน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการสอนในระดับปริญญาตรี ในกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้การพิจารณาเงินเยียวยา การค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแต่อย่างใด

นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี

นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ คงลืมไปว่ากระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดการสอนระดับปริญญาตรีอยู่ในกระทรวงฯ หรืออาจเป็นความบกพร่องของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ไม่ได้มีการเสนอ จำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรี ต่อ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทำให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับการเยียวยา ทั้งที่มีความเดือดร้อนจากผลกระทบเช่นเดียวกัน ผู้เรียนทุกระดับ

“ในนามภาคประชาชนและผู้ปกครองและนักศึกษาปริญญาตรี ของสถาบันการอาชีวศึกษา ขอเรียกร้องให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ออกมารับผิดชอบและหาทางแก้ไขโดยเร็ว” ประธาน ค.ร.อ.ท. กล่าว