เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายอาจณรงค์ พุ่มงาม ผอ.ส่วนตรวจสอบเรื่องร่องเรียนกลาง สำนักตรวจสอบเร่องร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาและมีความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2)(3) หรือไม่
นายสนธิญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 65 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศนโยบายหาเสียง 10 ข้อ ในจำนวนนั้น มีการประกาศนโยบายเรื่องการถมทะเลจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งตนเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการถมทะเลของสมุทรสาคร พบว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงในการดำเนินโครงการต่างๆ จึงเชื่อว่า การที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายนี้ ยังไม่ได้มีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าในการดำเนินนโยบาย ผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดจากการดำเนินนโยบาย

ขณะเดียวกัน ยังได้ประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทย 55 ล้านคน โดยระบุใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 20% ของจำนวนงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็พบว่า เมื่อปี 54 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาล ได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและเกิดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบัน การจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ต้องมีการกันเงินราวๆ 3.5 หมื่นล้านบาท ไปจ่ายให้กับธนาคาร เพื่อชดใช้ความเสียหายในโครงการดังกล่าว ซึ่งต้องจ่ายต่อเนื่องไปถึงปี 77 จึงเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และเกรงว่า จะทำให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว
“ผมไม่เชื่อมั่นการทำงานของ กกต. เพราะ กกต. ไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่า นโยบายเหล่านี้ของพรรคการเมือง มีการจัดทำเรื่องความคุ้มค่า ความเสี่ยง ที่มาของงบฯ เป็นอย่างไร ขณะที่พรรคการเมืองเอง เมื่อประกาศนโยบายแล้ว ก็ไม่มีการให้รายละเอียดเรื่องนี้ต่อประชาชนอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักในการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2) ที่กำหนดให้การดำเนินการของพรรคการเมืองต้องเปิดเผย ตรวจสอบได้ และต้องมีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาสนโยบายที่ได้มีการวิเคราะห์ ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน จึงควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย” นายสนธิญา กล่าวและว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะไปเข้าลักษณะตามมาตรา 21 มาตรา 22 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุม ดูแลรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินนโยบายของพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เมื่อกรรมการบริหารพรรคไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐบาล เป็นเหตุให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 ของกฎหมายเดียวกัน
นายสนธิญา ยังกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะไปทวงถามต่อ ป.ป.ช. กรณีที่ตนเคยยื่นขอให้มีการตรวจสอบ ส.ส. ที่ไม่เข้าประชุมสภาช่วงปี 64-65 จำนวน 17 ครั้ง จนเป็นเหตุให้สภาล่ม เนื่องจากขณะนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เข้าร่วมประชุมในช่วงเวลาดังกล่าว มาให้ตนตามที่ยื่นหนังสือขอไว้ พบว่ามีถึง 171 คน ตนเห็นว่าการไม่เข้าร่วมประชุมถือว่า เข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิดที่ ป.ป.ช. ควรเร่งดำเนินการสอบสวนและชี้มูลเอาผิด เพราะทั้ง 171 คน ยังลงสมัคร ส.ส. หาก ป.ป.ช. ล่าช้า ตนจะไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะถ้าคนเหล่านี้ได้กลับเข้ามาเป็น ส.ส. ก็จะส่งผลเสียต่อการมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสื่อร้องต่อ กกต. กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ออกรายการกรรมการข่าว ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินการราย เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 66 เกี่ยวกับการเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อมางานศพบิดา ในช่วงที่มีการรัฐประหารเมื่อปี 49 แต่ต่อมามีชาวเน็ตเอาคลิปเก่า ที่นายพิธาเคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกันกับหนูแหม่ม สุริวิภา กุลตังวัฒนา มาเปรียบเทียบแต่พบว่า ข้อมูลกลับไม่เหมือนกันหลักๆ 3 ประเด็น แต่นายพิธายังไม่ออกมาชี้แจงคือ 1. อ้างว่าตัวเองเป็นข้าราชการ คณะทำงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ขณะที่ออกรายการหนูแหม่ม บอกว่าไปศึกษาที่บอสตัน

2.ออกรายการนายสรยุทธ ระบุว่าถูกควบคุมตัวที่สนามบินดอนเมือง ไม่สามารถกลับไปทันงานศพของบิดาได้ แต่ในรายการของหนูแหม่ม กลับพูดว่าอยู่ที่ดอนเมือง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 4-5 ชม. และกลับไปงานศพทัน 3.กรณีที่ให้สัมภาษณ์กับนายสรยุทธว่า มีการแช่แข็งบัญชีเงินของตนเองนานถึง 2-3 เดือน แต่ในอีกรายการไม่ได้พูดถึง และที่สำคัญไม่สามารถหาเงินมาทำบุญศพบิดาได้
เรื่องเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะฉะนั้นการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ในช่วงที่มาการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 66 เป็นความพยายามแต่งเรื่องขึ้นมาหรือไม่ สร้างความเห็นใจ และใส่ร้ายไปยังฝ่ายความมั่นคง หรือทหารว่า ตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นการเรียกคะแนนนิยมของตนเอง และของพรรค ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อห้ามตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 61 มาตรา 73 อนุมาตรา 5 ห้ามผู้ใดหรือพรรคการเมือง หรือผู้สมัครพรรคการเมืองหาเสียงโดยวิธีการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจในคะแนนนิยมของตน หรือพรรคการเมืองผิดไป และที่สำคัญพรรคของนายพิธา ก็มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทหาร ไม่ว่าจะเป็นยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือปฏิรูปทหาร เพราะฉะนั้นคำพูดของนายพิธา ต้องการสื่อให้เห็นว่าตนต่อต้านกองทัพ จึงยกประเด็นการทำรัฐประหารปี 49 หรือก็คือในช่วงที่ตนต้องกลับมางานศพบิดา
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวอีกว่าอาจเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง วันนี้ตนจึงได้มายื่นคำร้องต่อ กกต. ได้ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย ว่าการกระทำที่กล่าวมาเข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หากว่าเข้าข่ายก็มีความผิด มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และต้องเว้นวรรคทางการเมืองไปอย่างน้อย 20 ปี
ทางด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เดินทางมายื่นหลักฐานต่อ กกต. เช่นกัน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีนายพิธา ให้สัมภาษณ์ผ่ายรายการของนายสรยุทธ ถึงการร่วมงานศพคุณพ่อ ในช่วงรัฐประหาร เมื่อปี 49

นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้จำเป็นต้องมายื่นร้องเรียน เพราะกรณีดังกล่าว เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2561 มาตรา 73 (5) และต้องการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะเกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองที่หาเสียง ทั้งที่ขณะนี้ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่กลับมีคำพูดให้เกิดประเด็นทางสังคม ซึ่งเมื่อนำบทสัมภาษณ์ในรายการของสรยุทธ ไปเทียบกับรายการของนางสุริวิภา หรือหนูแหม่ม ที่นายพิธา ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 52 ซึ่งนายพิธาได้ออกมาบอกว่า เป็นข้อเท็จจริงทั้งคู่