ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จลงยังตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายรายวิชาผ่านระบบ Online ครั้งที่ 7 เรื่อง “กลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ : กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต” (Molecular and Cellular Mechanisms of Cancer Pathogenesis: Keys to Future Therapy)” ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการสอนลักษณะบรรยาย Online ครั้งสุดท้ายสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ประจำปี 2564 จากการบรรยายตั้งแต่หัวข้อที่ 1 จนถึงหัวข้อที่ 6 เป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาพรวมของกระบวนการการเกิดมะเร็ง การเปลี่ยนแปลงในเซลล์ ตลอดจนกลไกทางพันธุกรรมและทางชีวเคมีของการเกิดโรคมะเร็ง

ในครั้งนี้ ทรงบรรยายถึงการนำความรู้พื้นฐานเหล่านี้มาใช้ในการรักษาโรคให้ได้ผลดีขึ้น โดยการพัฒนายาและวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา มีการค้นพบและเข้าใจ กลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์มากขึ้นเป็นลำดับ จึงสามารถนำความรู้เหล่านี้ มาช่วยในการวินิจฉัยโรคให้เข้าถึงลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งมากขึ้น ในปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและแสดงออกของยีนต่างๆ ในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำมากขึ้น จึงช่วยให้แพทย์เลือกแผนการรักษาและยาที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของโรค ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น และอาจทำให้หายขาดได้  ทรงยกตัวอย่าง ความเป็นมาในการพัฒนายา กลี-เวค (Gleevec) ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง (chronic myeloid leukemia)  ซึ่งถือว่า เป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของหลักการในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะมากของมะเร็ง  

รวมทั้งได้ทรงยกตัวอย่าง การใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละคนมาใช้ในการรักษามะเร็งปอดแบบเฉพาะบุคคลซึ่งได้ผลดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดตามมาเนื่องจากเมื่อใช้ยารักษาไประยะหนึ่ง มักพบการดื้อยาขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการค้นคว้าพัฒนายาใหม่ๆ ออกมาเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไป ในช่วงท้าย ได้ทรงบรรยายถึง การพัฒนาการรักษามะเร็งโดยใช้ยาที่มุ่งเป้าที่ระบบที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของยีน โดยมีการพัฒนายาขึ้นหลายกลุ่ม รวมถึงยาที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ โครมาติน (chromatin) ด้วย

ความก้าวหน้าทางวิทยาการ โดยการหาแนวทางการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งต่างๆ กันในเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้า ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในด้านมะเร็งในอนาคต ความรู้เรื่อง “การเกิดมะเร็ง (Oncogenesis)” ที่นักศึกษาแพทย์ได้รับพระราชทานจาก “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ทั้ง 7 ครั้งนี้ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานการเกิดโรค กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น จนถึงการพัฒนายาที่มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การรักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้สามารถระงับโรคมะเร็งได้ และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม.