เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้โพสต์ข้อความระบุว่า วันนี้มีม็อบ พร้อมกัน 16:00 น. ณ สี่แยกราชประสงค์ กรุณาเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และ อย่าลืมพกที่นั่งและอุปกรณ์ป้องกันทั้งฝน ทั้งแก๊ส มานะจ๊ะ ออกมาไล่ประยุทธ์ (พร้อมปฏิรูปทุกสถาบัน) กันให้เต็มราชประสงค์ไปเลย!

พร้อมกับได้โพสต์อธิบายเหตุผลถึงแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า “ทำไมเราควรเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง” โดยระบุว่า หลายคน “เชื่อ” ว่าความรุนแรงสามารถสร้างแรงกดดันที่สูง และสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริง การเก็บข้อมูลจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ.1900-2006 กว่า 323 ขบวนการ พบว่าขบวนการที่ยึดมั่นในสันติวิธีประสบความสำเร็จ โดยข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองกว่าร้อยละ 53 ขณะที่ขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น

หลายคน “เชื่อ” ว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี รัฐมีโอกาสการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ไม่ต่างกัน แต่ในความเป็นจริง จากการศึกษาพบว่า ขบวนการที่ใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มจะถูกสังหารหมู่กลับจากภาครัฐสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ขบวนการที่ใช้สันติวิธีมีโอกาสถูกใช้ความรุนแรงกลับจากภาครัฐเพียง 23 เปอร์เซ็นต์ (ICNC ,2018)

หลายคน “เชื่อ” ว่า ไม่ว่าขบวนการจะใช้ความรุนแรงหรือไม่

รัฐไทยก็สามารถหาข้ออ้างใช้ความรุนแรงได้อยู่ดี แต่ในความเป็นจริง แม้ไม่อาจรับประกันได้ว่าผู้ใช้สันติวิธีจะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม แต่การใช้สันติวิธีจะรักษาความชอบธรรมแก่ขบวนการเคลื่อนไหว และลดทอนการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมจากรัฐ ขณะที่การใช้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวจะเปิดช่องให้ภาครัฐใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม รวมถึงการออก “ใบอนุญาตในการสั่งฆ่า” (License to Kill) เพื่อใช้ความรุนแรงอย่างมหันต์ได้

หลายคน “เชื่อ” ว่า สันติวิธีคือการนิ่งเฉยสยบยอมต่ออำนาจรัฐเมื่อมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม

แต่ในความเป็นจริง การใช้ปฏิบัติการสันติวิธีไม่ใช่การอยู่เฉย หรือการไม่ทำอะไรเลย การใช้สันติวิธีเป็นการกระทำ (Action) ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย ดังกรณีการศึกษาของ Gene Sharp ที่เคยเสนอวิธีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในการต่อต้านกับภาครัฐไว้มากถึง 198 วิธี (Sharp, 1973)

หลายคน “เชื่อ” ว่า ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลง ของผู้เห็นด้วยกับขบวนการ

แต่ในความเป็นจริง การใช้ความรุนแรงมีโอกาสบั่นทอนแนวร่วม และยากแก่การโน้มนาวชักจูงผู้คนให้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ขณะที่สันติวิธีเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่มีสมรรถภาพในการโน้มน้าวชักจูงผู้คน ทั้งฝ่ายที่เป็นกลาง และฝ่ายตรงข้าม ให้หันมาสนใจ กระทั่งเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวได้

หลายคน “เชื่อ” ว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือการได้ประชาธิปไตยเหมือนกัน

แต่ในความเป็นจริง ผลลัพธ์และวิธีการในการไปสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสมบูรณ์ ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน มีแนวโน้มจะเป็น ‘ประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่น’ มากกว่าผลลัพท์ที่ได้จากการใช้ความรุนแรง

อ้างอิง

Maria J. Stephan and Erica Chenoweth. (2008).

“Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict.” International Security 33, no. 1: 7-44.

ICNC. (2018). Nonviolent Resistance and Prevention of Mass Killings During Popular Uprisings. from https://www.nonviolent-conflict.org/…/nonviolent…

Sharp, G., In Finkelstein, M. S., & Schelling. T. C. (1973). The politics of nonviolent action.

#ม็อบ3กันยา #อภิปรายไม่ไว้วางใจ