เมื่อเวลา 10.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เป็นวันที่ 4 ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านอภิปรายว่า เป็นเท็จหรือได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดมา ในฐานะที่ตนกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีนโยบายว่าต้องสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และกำชับว่าถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่ต้องกังวลจะปกป้อง แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องตนจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องของยางพารา 104,000 ตัน มียางพาราอยู่ในสต๊อก 104,000 ตันเศษ ซึ่งอย่างที่เก็บไว้เสียค่าเช่าโกดังค่าประกันภัยจะได้รับการชดเชยโดยสัญญาทุกปีจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี และเริ่มต้น มิ.ย. กยท.ทำสัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่ปี 55 โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยการซื้อยางเข้าสู่สต๊อก เพื่อให้ยางในตลาดมีปริมาณน้อยลง และรักษาเสถียรภาพ เพราะขณะนั้นราคายางตกมากจากกิโลกรัมละ 180 บาทเหลือ 90 บาท เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 55 จึงรับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตันในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโลกรัม งบประมาณ 22,782 ล้านบาท และในปี 57 มีโครงการมูลพันธ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพารา เพื่อให้ยางในตลาดขณะนั้นมีราคาไม่ต่ำจนเกษตรกรไม่มีจะกิน ที่ซื้อยางเข้าสต๊อกทั้ง 2 ครั้ง ปี 55 กับ 57 เพื่อตัดปริมาณยางในตลาดรักษาสถานภาพราคายางเมื่อมีการนำยางเข้ามาในสต๊อก มีการระบายยางโดยครั้งแรกในปี 57 มีการลงนามสัญญา 278,000 ตัน เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมากบริษัทรับยางเพียง 37,602 ตัน เนื่องจากราคาตกมากจึงไม่ได้รับครบจึงเป็นไปสู่การกำหนด TOR ในการประมูล

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการประมูลครั้งที่ 2 ประมูลในรอบปี 59-60 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพแยกโกดัง ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพหากพอใจโกดังไหนที่ประมูลโกดังนั้น พ่อค้าก็เลือกยางดีๆ ไปหมด การประมูลครั้งที่ 2 เหลือยางในสต๊อกจนถึงปัจจุบัน 104,000 ตันเศษ 9 ปีเต็ม เป็นยางที่ถูกคัดเลือกของดีไปเรียบร้อยแล้ว ยางในสต๊อกนี้คือฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกร ตนมาช่วยคลายล็อกให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องฝันร้ายอีกต่อไป จะได้ไม่ถูกยางในสต๊อกเป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่มกดราคา อ้างว่ายางไม่ขาดมีในสต๊อก ทั้งที่ยางในสต๊อกไม่มีสภาพที่พร้อมใช้แล้ว ส่วนยางแผ่นดิบปกติเก็บ 6 เดือนสีก็เปลี่ยน ระหว่างปี 55-59 ค่าใช้จ่ายในการซื้อยางเข้ามาในสต๊อก ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราใช้เงินทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท และปี 59 ถึงปี 64 ยาง ค่าใช้จ่ายรวมกัน 925 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบรายจ่าย กยท. จากเงินกองทุนพัฒนายางพาราซึ่งใช้ดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร จึงเป็นฝันร้ายที่ 2 ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63 ให้ระบายยางในสต๊อกนี้ให้หมดโดยเร็ว และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 พ.ย. 63 การระบายต้องดูจังหวะที่เหมาะสม และไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนักเมื่อ ครม.ได้รับทราบ ผมในฐานะกำกับดูแล กยท. ได้ให้กยท.ปฏิบัติดังนี้ 1.ให้ กยท.ดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายเพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด 2.พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3.ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และ 4.ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบ

“ที่เน้นย้ำที่สุด คือ ห้ามทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าเขาทำทุจริตผิดกฎหมายผมไม่ละเว้นอยู่แล้ว นอกจากผมไม่ละเว้นยังมีหน่วยงานมากมายที่รอการตรวจสอบท่านสามารถฟ้องได้เลย เพราะถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศผมก็ไม่เอา และผมพร้อมให้ทุกหน่วยงานได้ตรวจสอบ ผมไม่อยากให้ประวัติ ผมเสียในวันที่ผมเป็น รมว.เกษตรฯ แล้วมีเรื่องการทุจริตเกิดขึ้น ผมและพรรคประชาธิปัตย์ถืออย่างมากเรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย พวกผมมีแต่ความสุจริตเชิงนโยบาย” นายเฉลิมชัย กล่าว.