เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตำหนิฝ่ายค้านใช้เวทีสภาเป็นเวทีหาเสียง ในระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทว่าหลังจากนั้นนายกฯ ได้งัดตัวเลขเศรษฐกิจคนละชุดขึ้นมาแจกแจงผลงานของตัวเอง โดยระบุว่า “ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีนายกฯ คนไหนช่วยประชาชนได้ขนาดนี้ ไม่มีผู้นำคนไหนยอมถูกต่อว่าว่ากู้เงินเก่ง เอามาช่วยประชาชนมากกว่าครึ่งของประเทศ ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รัฐบาลคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก รัฐบาลจำเป็นต้องทำ แล้วผมก็ถูกตำหนิ”

ล่าสุดนายธีระชัย ภูวนาถนานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เหมือนหัวหน้าครอบครัวสมองน้อย ทำงานสร้างรายได้ไม่เป็น แต่มีความภูมิใจที่กู้เงินมาซื้อนมเลี้ยงลูก หัวหน้าครอบครัวแบบนี้ พาครอบครัวลงเหว ท่านไม่เข้าใจว่า ไม่มีครอบครัวใดที่อยู่ได้นาน ถ้าเลี้ยงตัวโดยอาศัยหนี้ กู้เงินเก่งแล้วเอามาใส่มือลูก เป็นงานหลักของหัวหน้าครอบครัวที่ทำอะไรไม่เป็น

นอกจากนี้นายธีระชัย ยังระบุว่า “นายกฯ ที่กู้เงินมากที่สุด” พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่กู้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยท่านกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีนายกฯ คนไหนช่วยประชาชนได้แบบนี้ ไม่มีผู้นำคนไหนยอมถูกต่อว่ากู้เงินเก่ง แล้วเอามาใส่มือประชาชนแบบนี้ เป็นอันว่า ท่านยกย่องผลงานของตนเอง ที่กู้เงินมากที่สุด มากกว่าหลายรัฐบาลก่อนหน้าบวกรวมกัน!!!

แต่ผมขอเรียนว่า ท่านอาจจะเข้าใจไม่ถ่องแท้

หนึ่ง เงินกู้ไม่ใช่ของฟรีเงินกู้ คือการเอารายได้ในอนาคต มาใช้ในปัจจุบัน และต้องชำระคืน จึงย่อมไม่ใช่ของฟรี โดยจะตกเป็นภาระของคนอีกหลายรุ่น ดังนั้น การใช้เงินกู้จึงต้องระวัง ต้องกระเหม็ดกระแหม่ ต้องไม่สุรุ่ยสุร่าย ในวิกฤติโควิด การที่รัฐบาลกู้เงินมาเพื่อช่วยกลุ่มที่ยากลำบาก ไม่สามารถช่วยตนเองได้ เป็นสิ่งที่ดี แต่การขยายวงจำนวนคนที่ช่วยเหลือให้กว้างขวางเกินจำเป็น หากทำเพื่อประโยชน์ฐานเสียงทางการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น ถึงแม้รัฐบาลเอาเงินกู้ไปใส่มือประชาชน แต่ถ้าทำกว้างขวางเกินความจำเป็น ย่อมไม่ใช่นโยบายที่ดี

สอง มีเงินกู้ที่ไม่ได้ใส่มือประชาชน

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ออกพระราชกำหนด เพื่อกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท โดยเขียนวิธีการใช้เงินกู้แบบรวบอำนาจ ที่ผิดประเพณีกระทรวงคลัง  และทำให้การใช้เงินหลุดออกไปจากองคาพยพกระบวนการตรวจสอบปกติ ผมเห็นว่า การรวบอำนาจดังกล่าว เป็นการร่างกฎหมายที่เกินอำนาจของ พรบ. วินัยการเงินการคลังฯและอาจกลายเป็นการจิ้มก้องพรรคร่วมรัฐบาล เพราะผู้ที่เห็นชอบโครงการคือรัฐมนตรี มีลักษณะ top down  จึงได้เห็นโครงการแปลกๆ เช่น หนึ่งตำบล-หนึ่งมหาวิทยาลัย ที่โครงการเดียวใช้เงินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

สาม เงินกู้ที่อาจมีการทุจริตความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่น่ากลัวที่สุด คือกรณีเงินกู้ที่อาจมีการทุจริต เพราะทุกคนต้องเฉลี่ยกันรับใช้หนี้

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ผมได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ สำเนาถึง รมว.คลัง  สืบเนื่องจากผมได้รับข้อมูลสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 3ในระเบียบวาระ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายสำหรับ ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม’ซึ่งผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชี้แจงว่า กองทุนดังกล่าว นอกจากมีปัญหา  ไม่ได้ปรับปรุงรายการบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว

จากการดำเนินการตรวจสอบผู้ถือบัตรโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 คน พบว่า จำนวน 22 คน เสียชีวิตแล้ว แต่รายการทางการเงินมีการเคลื่อนไหว ผมจึงมีข้อห่วงใยว่า อาจมีการใช้ชื่อคนตายมาสวมเพื่อออกบัตรดังกล่าว อันอาจเป็นขบวนการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ผมก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงจนทุกวันนี้

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ