เมื่อเวลา 15.07 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า จงใจใช้อำนาจรัฐมนตรีในการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องในคดีพิพาทดาวเทียมไทยคม ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 10 ก.ย.นี้ และมีบางบริษัทได้รับสิทธิขาดในการดำเนินกิจการแต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้กลายเป็นบริษัทเดียวที่ผูกขาดดำเนินกิจการดาวเทียมมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เงื่อนไขของสัมปทานระบุว่า บริษัทมีหน้าที่ดูแลรักษาให้ดาวเทียมหรือเปลี่ยนดาวเทียมทดแทนดาวเทียมที่ชำรุดไปตลอดระยะเวลาสัมปทาน แต่ดาวเทียมทุกดวงที่สร้างขึ้นตามสัญญานี้จะตกเป็นของกระทรวงคมนาคม และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กระทรวงทันที และดาวเทียมยังจะต้องอยู่ในสภาพใช้งานได้อยู่บนวงโคจร

นายรังสิมันต์ อภิปรายว่า สัมปทานนี้ทำให้เกิดผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่หลายฝ่ายจ้องเข้ามาตักตวง 2 ก้อน ได้แก่ 1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมที่ตกเป็นคดีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับไทยคม ตามสัญญาสัมปทานปี 34 2. ผลประโยชน์จากดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่อยู่ในสัญญาสัมปทานนี้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 ก.ย. 64 โดยปกติแล้วเมื่อมีคดีพิพาท รัฐมักติดต่อไปยังอัยการสูงสุดให้จัดหาพนักงานอัยการมารับตำแหน่งอนุญาโตตุลาการ เมื่อจัดหาแล้วจะเสนอชื่อให้กับทางกระทรวงฯ แล้วกระทรวงฯ ต้องนำไปแจ้งกับคู่ความอีกฝ่ายในเวทีพิจารณาคดีต่อไป แต่ภายในเวลาเพียง 6 เดือนที่นายชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ มีความพยายามเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครั้งจนน่าสงสัย โดยกระทรวงดิจิทัลฯ พยายามกำจัดอนุญาโตตุลาการคนเดิมออก และกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลาง

นายรังสิมันต์  อภิปรายต่อว่า ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน แต่การที่นายชัยวุฒิแอบเอาผลประโยชน์ของประเทศไปประเคนให้เอกชนที่ระบุตัวเฉพาะเจาะจง ทำให้รัฐวิสาหกิจที่ควรได้เป็นผู้เล่นรายใหม่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงตลาดด้วยตัวเอง หากเทียบในปี 63 ที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน รัฐยังได้รายได้จากดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ถึง 559 ล้านบาท แต่ดีลใหม่จะเหลือปีละ 80 ล้านบาทเท่านั้น และยังไม่นับว่าต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ และแบ่งรายได้กัน ตั้งคำถามว่านายชัยวุฒิใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งหรือไม่ เพราะนายชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในบริษัทแห่งนั้น อีกทั้งบริษัทเอกชนดังกล่าวเคยบริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในปี 59 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ในวงการดาวเทียม เมื่ออยู่ภายใต้อำนาจของนายชัยวุฒิก็จะถูกกินรวบเข้าไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งหมด ส่วนผลประโยชน์ในกิจการด้านอื่นๆ ถ้ายังให้รัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐนำประเทศต่อไป ก็คงไม่พ้นต้องตกในชะตากรรมเดียวกัน ปัญหาการกินรวบที่เกิดจากกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจผูกขาด

“เราอาจจะเปรียบเปรยว่าแทบไม่แตกต่างกับปรสิตที่กัดกินสังคมไทยไม่ให้พัฒนา ด้านหนึ่งปรสิตกลุ่มทุนเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ผ่านการจ่ายเงินให้พรรคการเมือง เพื่อให้ส.ส.และส.ว. ออกนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์แก่ปรสิต และส่งสมัครพรรคพวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือคนใกล้ชิดของรัฐบาลเพื่อให้มั่นใจว่า จะผูกขาดทรัพยากรต่างๆ ในประเทศได้ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการจ่ายเงินให้กับบรรดาข้าราชการหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า แขนขาของร่างกายจะเชื่อฟังตามใจปรารถนาของปรสิตกลุ่มทุนที่เข้ามายึดครอง หนทางเดียวที่จะรักษาอาการป่วยของประเทศนี้คือการทลายปรสิตการเมือง” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายรังสิมันต์อภิปราย ได้มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกล่าวพาดพิงบุคคลที่ 3 อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องคอยตักเตือนอยู่ตลอดว่า อย่ากล่าวหาบุคคลที่ 3 โดยไม่จำเป็น และระมัดระวังในการอภิปรายให้มากขึ้น 

และเมื่อนายรังสิมันต์ อภิปรายถึงระบอบปรสิต นายทุนผูกขาด ศักดินาตั๋วช้าง และขุนศึกป่ารอยต่อ พร้อมมีภาพประกอบการอภิปรายโดยมีรูปพล.อ.ประวิตรรวมอยู่ด้วยนั้น ต่อมา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐลุกขึ้นประท้วงว่า ห้ามนำรูปพล.อ.ประวิตร ขึ้นระหว่างอภิปราย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับระบอบปรสิต ซึ่งประธานที่ประชุมวินิจฉัยว่า ไม่อนุญาตไม่นำภาพดังกล่าวขึ้นประกอบการอภิปราย และไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าระบอบปรสิตคืออะไร โดยระบอบปรสิตไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด แต่หมายถึงภาพรวม.