เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ชื่อว่า ‘instablog9ja’ ได้โพสต์ภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายกำกับในภาพว่า ‘ยักษ์ชาวนีแอนเดอทัลคนสุดท้าย’ เรียกยอดผู้เข้าชมได้สูงถึง 1 ล้านครั้ง และยอดคนกดถูกใจมากกว่า 13,400 ล้านครั้ง และมียอดแชร์ออกไป 1,350 ครั้ง
ภาพดังกล่าวเป็นภาพของชายร่างใหญ่ผิดปกติคนหนึ่ง ยืนอยู่ท่ามกลางกลุ่มคน โดยเห็นได้ชัดว่าเขามีความสูงมากกว่าคนทั่วไปหลายเมตร ใบหน้าที่มีหนวดเครารุงรังอำพรางสีหน้าของเขาเป็นส่วนใหญ่ แต่เขามีท่าทีเหมือนจ้องตรงมายังกล้องที่ถ่ายภาพ
ภาพนี้ไม่เพียงปรากฏบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ แต่ยังมีให้เห็นบนแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก และติ๊กต็อก สร้างความฮือฮาให้ชาวโซเชียล แต่ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากสงสัยว่าเป็นภาพถ่ายจริงหรือปลอม
Bruv! pic.twitter.com/8v2WLLghx6
— Instablog9ja (@instablog9ja) April 30, 2023
อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงก็สรุปได้ไม่ยากว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่จัดทำขึ้น หากพิจารณาข้อมูลว่ามนุษย์โบราณยุคนีแอนเดอทัล นั้นสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปนานแล้วถึง 40,000 ปี ก่อนที่มนุษย์จะวิวัฒนาการและมีวัฒนธรรมดังเช่นที่เห็นในภาพถ่าย
จากการสืบค้นแบบย้อนกลับของสำนักข่าวเอเอฟพี พบว่าภาพดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในภาพถ่ายจากบัญชีผู้ใช้งาน ‘HoaxEye’ ซึ่งโพสต์ภาพต่างๆ ลงบนแพลตฟอร์ม แมสโทดอน และ เทเลแกรม โดยภาพที่กลายเป็นประเด็นนั้น มีคำบรรยายว่า “ดูเหมือนจะมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าเคยมียักษ์อยู่บนโลกจริงๆ ภาพนี้เป็นภาพที่สร้างขึ้นโดยเอไอมิดเจอร์นีย์’
เจ้าของภาพเคยโพสต์ภาพ ‘ยักษ์นีแอนเดอทัลคนสุดท้าย’ นี้บนแพลตฟอร์ม เรดดิท เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 โดยโพสต์อยู่ในหมวดหมู่ของ ‘ภาพที่สร้างสรรค์โดยเอไอมิดเจอร์นีย์’ โดยมีคำบรรยายว่า “ยักษ์คนสุดท้ายในขบวนพาเหรดบนถนน เมื่อปี ค.ศ. 1890”

เมื่อพิจารณ์องค์ประกอบใกล้ๆ ก็จะเห็นความไม่ลงตัวและผิดที่ผิดทางหลายประการของภาพถ่าย ซึ่งเป็นข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นตามปกติของการสร้างภาพถ่ายด้วยโปรแกรมมิดเจอร์นีย์ เช่น มือขวาของ ‘ยักษ์’ ดูเหมือนนิ้วมือแค่ 4 นิ้ว และมีนิ้วชี้ที่ใหญ่เป็นพิเศษ ขณะที่ใบหน้าของคนที่อยู่ในฝูงชนบางคนก็มีความเลอะเลือนบิดเบี้ยว ไม่เหมือนใบหน้าคนจริงๆ ซึ่งกลายเป็นจุดที่ทำให้จับผิดได้ว่า นี่คือภาพที่สร้างขึ้นโดยเอไอ ไม่ใช่ภาพถ่ายจากเหตุการณ์จริง

เครดิตภาพ : Twitter / @instablog9ja