เมื่อวันที่ 4 ก.ย.  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พาดพิงถึงการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนไทย ว่า การที่ผู้อภิปรายในสภาฯ กล่าวพาดพิงถึงวัคซีนซิโนแวคนั้น เป็นการนำข้อมูลที่มาจากข่าวตัดเก่าๆ มาใช้เพื่อผลทางการเมือง เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงหลายประการ และไม่ใช่หลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับไทยมาเป็นเวลายาวนาน มีความปรารถนาดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตลอดมา เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้ง 2 รัฐบาลให้ความสำคัญในทุกมิติ ขณะที่กรณีของคุณภาพวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว รวมถึงมีอีก 39 ประเทศให้การรับรอง และนำไปฉีดให้กับประชาชนอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็วและได้ผลทันท่วงที

“ความพยายามกล่าวด้อยค่าเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงไม่เพียงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและคุณค่าวัคซีนซิโนแวค แต่ส่งผลกระทบกับมิตรประเทศที่ดีของไทยซึ่งมีความร่วมมือกันใกล้ชิดที่ก่อประโยชน์อย่างมากในหลายด้านต่อประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย” นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวอีกว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ออกมารุ่นแรกๆ ที่สามารถผลิตออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และนำไปใช้และร่วมผลิตในหลายประเทศ ซึ่งปรากฏประสิทธิภาพแล้วว่าได้ผลในการระงับยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดีตามเป้าหมาย โดยมีผลข้างเคียงน้อย เพราะใช้เชื้อตายเป็นพื้นฐานในการพัฒนาวัคซีน จึงมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้วย เนื่องจาก วัคซีนทุกชนิดในขณะนั้นเป็นวัคซีนที่อยู่ในขั้นทดลองและนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น ปัจจุบัน จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้วในโลกมีหลายร้อยล้านคน และวัคซีนของประเทศจีนทุกชนิดมีการนำไปใช้แพร่หลายทั่วโลกกว่า 90 ประเทศ ยกเว้นในทวีปอเมริกาเหนือที่ใช้วัคซีนของตัวเองที่ผลิตด้วย mRNA เป็นส่วนใหญ่ และในทวีปยุโรปมีวัคซีนชนิดไวรัล เวกเตอร์ ที่คิดค้นได้โดยบริษัท แอสตราเซเนกา ของอังกฤษ ที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป สำหรับเรื่องราคาของวัคซีนนั้น วงการแพทย์ทราบดีว่าราคาของวัคซีนที่ใช้เชื้อตายจะสูงกว่าชนิดอื่น เพราะมีกระบวนการในการผลิตที่ยากกว่า  

นายดอน กล่าวอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีให้ใช้เครือข่ายของกระทรวงฯ คือสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศต่างๆ ในการจัดหาวัคซีนแก่ประชาชนให้มากที่สุดในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังมีปัญหาการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่  

อีกทั้ง หลายประเทศและองค์การอนามัยโลกต้องตกอยู่ในสภาพขาดแคลนวัคซีน สถานเอกอัครราชทูตไทยได้พยายามติดต่อสอบถามรัฐบาลของเจ้าบ้าน เมื่อมีข้อมูลว่ายังอาจมีวัคซีนพอที่ไทยเข้าถึงได้ โดยในการเจรจากระทำในหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทุกประการให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด อาทิ การแลกเปลี่ยน (Swap) คือในการที่ไทยสามารถผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาได้ เมื่อถึงเวลาที่ไทยมีวัคซีนเพียงพอ ไทยก็นำคืนวัคซีนที่ผลิตได้ให้ประเทศนั้นๆ ส่วนบางประเทศที่มีแนวโน้มว่ามีพอใช้และอาจขายต่อได้ ไทยก็ขอซื้อ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขทำงานร่วมมือกันใกล้ชิดมาตลอด โดยที่ทำกันคนละหน้าที่ แต่จุดประสงค์เดียวกัน คือให้ได้มาซึ่งวัคซีนให้กับประชาชนให้มากที่สุด เร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด