สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า สถาบันโลวี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่เมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานว่า มูลค่าการลงทุนของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลดลงจาก 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 265,114.60 ล้านบาท) เมื่อปี 2558 มาอยู่ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 136,045.65 ล้านบาท) เมื่อปี 2564
China has cut development assistance to Southeast Asia, according to a report https://t.co/BnmU1Z2gCX pic.twitter.com/18jfvv7ZbO
— Al Jazeera English (@AJEnglish) June 5, 2023
ขณะที่มูลค่าการลงทุนของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี 2558-2564 อยู่ที่ 37,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.32 ล้านล้านบาท) คิดเป็นเกือบ 20% ของความสนับสนุนทางการเงินที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ได้รับในแต่ละปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 5,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 192,905.76 ล้านบาท)
Filling the gaps: The Southeast Asia Aid Map | Alexandre Dayant, Grace Stanhope, Roland Rajah https://t.co/XTSxyvkWul
— The Lowy Institute (@LowyInstitute) June 5, 2023
ทั้งนี้ ความสนับสนุนจากจีนส่วนใหญ่มาในรูปแบบของเงินกู้ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบรถไฟความเร็วสูง ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
ในเวลาเดียวกัน สหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ต่างพยายามเร่งเครื่องเพิ่มความสนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อคานอำนาจกับจีนในเรื่องนี้ โดยหากแยกการมอบความช่วยเหลือเป็นรายประเทศ ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสองรองจากจีน ด้วยมูลค่าความสนับสนุน 28,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 983,714.70 ล้านบาท) ระหว่างปี 2558-2564
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่เศรษฐกิจของทุกประเทศบนโลกได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงิน รายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ยังมีองค์กรการเงินระหว่างประเทศน่าจับตาอีกแห่ง นั่นคือ ธนาคารพัฒนาอิสลาม (ไอดีบี) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ และอนุมัติเงินกู้ให้แก่อินโดนีเซียประมาณปีละ 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,848.68 ล้านบาท).
เครดิตภาพ : AFP