ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศาลาร่มโพธิ์นุกูลทองทวี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน หรือ JMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุเทพ ชัยวัฒน์ นอภ.เมืองกาฬสินธุ์ นายสำรวย อินพิทักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้บริหารน้ำ และตัวแทนเกษตรกร เข้าร่วมประชุม เพื่อสรุปประเด็นปัญหาการส่งน้ำ สถานการณ์น้ำ แผนการปลูกพืช ร่วมกันวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 และพิจารณากำหนดวันการส่งน้ำเพื่อการเกษตร

นายสำรวย กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทานนั้น จัดขึ้นเพื่อให้การบริหารจัดการชลประทานในด้านการส่งน้ำและบำรุงรักษาและกิจกรรมต่างๆ เป็นไปตามแนวทางและเป้าหมายการ จัดการน้ำ โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน ทั้งด้านการส่งน้ำ และการบำรุงรักษาอาคารชลประทาน ที่จะทำให้เกิดการจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และยั่งยืน รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้น้ำชลประทานอย่างสูงสุด

ด้านนายสมปอง ฉ่ำกระมล ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า จากอิทธิพลของเอลนีโญ ทำให้ประเทศไทยประสบกับภัยแล้ง โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำฝนเพียง 250 มม. เท่านั้น เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2565 ปี นั้นมีปริมาณน้ำฝนรวม 700 มม. ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะใกล้เคียงกับปี 2558 และปี 2562 ซึ่งตลอดทั้งปี น้ำในเขื่อนลำปาวจะมีปริมาณรวมเพียง 1,100 ล้าน ลบ.ม. การเพาะปลูกปีนี้ จึงต้องพึ่งน้ำฝนเป็นหลัก และประชาชนควรกักเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด

ขณะที่นายศุภศิษย์ กล่าวว่า จากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนใน จ.กาฬสินธุ์ มีน้อย และก็น่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีฝนตกเพียง 365 มม. น้อยกว่าปี 2565 อย่างชัดเจน ลดลงถึงร้อยละ 25 ขณะที่การทำการเกษตร ทั้งการเพาะปลูก และการทำประมง พื้นที่ไม่ต่างจากเดิม เต็มพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว มีอยู่ 800 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และส่งให้ทำการเกษตร โดยจะเริ่มส่งตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป แต่ก็ขอให้พี่น้องประชาชนและเกษตรกร ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด