ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุวัชร โพธินาม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กับนามสมิทธิ ว่องไพฑูรย์  กรรมการบริษัทเอจี ประเทศไทย จำกัดได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อ“การศึกษาวิจัยและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพสูงจากผลพลอยได้ของกระบวนการผลิตน้ำตาล  ” ระหว่าง กรมพัฒนาที่ดิน กับบริษัท เอจี ประเทศไทย จำกัด พร้อมกับสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 801 กรมพัฒนาที่ดิน

ตามที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ระยะ 5 ปี ไว้ว่า “ เป็นองค์การอัจฉริยะทางดินเพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 ” นั้น ได้มีแผนปฏิบัติราชการในประเด็นการพัฒนาที่ 3 ด้านการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมการพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามแผนแม่บทและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 การบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างสมดุลและยั่งยืน ด้วยการฟื้นฟู ปรับปรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งเสริมมาตรการปรับปรุงบำรุงดินให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแพร่หลาย  สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

บริษัท เอจี ประเทศไทย ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ในการบริหารจัดการ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตามนโยบาย BCG ด้วยการพัฒนาปัจจัยการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับเกษตรกร  เพื่อการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต สร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่ยั่งยืน เสริมหนุนการจัดการในระบบZero Waste ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของประเทศไทยได้มีแผนปฏิบัติการในประเด็นการผลิตปุ๋นอินทรีย์ ช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤตปุ๋ยเคมีแพง โดยการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สอดคล้องกับ การฟื้นฟู ปรับปรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้อย่างแพร่หลาย  และเกิดประโยชน์สูงสุด 

ที่ผ่านมาบริษัท เอจี ประเทศไทย ได้มีนโยบายในส่งเสริมและสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ประกอบด้วยสารปรับสภาพดินที่ผลิตจากกากตะกอนหม้อกรองภายใต้ชื่อการค้า AG Peatmass  ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นต้นทางของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยแนะนำให้เกษตรกรนำไปประยุกษ์ใช้ในการบำรุงดิน เพื่อลดต้นทุนจากการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง