นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่ผ่านมาได้เผชิญกับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ดังนั้นในงวดใหม่ (ก.ย.-ต.ค. 66) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาเร็วๆ นี้ มีปัจจัยหนุนที่มองว่าควรจะลดลงกว่า 10% จากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66

ดังนั้นเมื่อพิจารณารายละเอียดค่าไฟเฉลี่ยงวดใหม่จึงไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.70 บาทต่อหน่วย โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมี 5 ปัจจัยได้แก่

1.ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแห่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 เป็น 600 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี

2.ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ลดลง

3.ราคา LNG Spot ลดลงมากกว่า 30%

4.ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

5.หนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดแรกและงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง LNG ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ Ft

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเพียงแค่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมา ดังนั้นเอกชนและประชาชนจึงต้องการเห็นการบริหารค่าไฟที่ยึดประโยชน์ของส่วนร่วม เช่น การแก้ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายโรงไฟฟ้า, ปลดล็อกด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะโซลาร์และการเร่งจัดหาแอลเอ็นจีก่อนหน้าหนาวในยุโรป เป็นที่ตั้งควรประสานผู้ที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยข้อมูลต่างๆ และหาต้นทุนเชื้อเพลิงที่สะท้อนให้เร็วกว่าการรอพิจารณา 4 เดือน และควรร่วมบริหารแบบทิศทางเดียวกัน