รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง พื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) วงเงิน 1,070 ล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 92.87% ล่าช้าจากแผนประมาณ 7.13% ซึ่งเดิมคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากอุปกรณ์บางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศยังมาไม่ถึง จึงทำให้งานล่าช้าออกไป อาทิ สะพานเทียบเครื่องบิน ปัจจุบันส่งมาแล้ว 1 ตัว และจะส่งมาเพิ่มอีก 1 ตัว ประมาณปลายเดือน ก.ค. 66 อย่างไรก็ตามเบื้องต้นงานโครงสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อย เหลือการเก็บรายละเอียด ตลอดจนงานตกแต่งสถาปัตยกรรมภายใน และภายนอก คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ภายในปี 66

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สัญญาการว่าจ้างบริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ฯ ได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ประมาณเดือน ก.ย. 65 แต่ ทย. ได้ขยายสัญญาไปจนถึงวันที่ 7 ต.ค. 66 โดยได้รับสิทธิ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ได้พยายามเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้เปิดบริการได้ทันในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ช่วงประมาณเดือน ต.ค. นี้ โดยอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานตรังได้มากขึ้น จากเดิม 600 คนต่อชั่วโมง (ชม.) หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 1,200 คนต่อ ชม. หรือ 3.4 ล้านคนต่อปี

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนงานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) ท่าอากาศยานตรัง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ วงเงิน 1,800 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า เอ็นทีเอช เป็นผู้รับจ้างนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้า 25.14% ล่าช้ากว่าแผน 10.27% โดยมีระยะเวลาก่อสร้างถึงวันที่ 5 ม.ค. 68 ปัจจุบันผู้รับจ้างยังคงดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่เดิมของท่าอากาศยานประมาณ 1,659 ไร่ไปก่อน ส่วนพื้นที่เวนคืนที่ดินในส่วนที่ต้องเพิ่มเติม ในท้องที่ ต.ควนธานี อ.กันตัง และ ต.โคกหล่อ ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง รวม 673 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น โดยงบประมาณที่ใช้เวนคืนประมาณ 800 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การเวนคืนที่ดินดังกล่าว มีผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนประมาณ 241 ราย ซึ่งขณะนี้มีชาวบ้านหลายรายมองว่าราคาประเมินที่ดินที่ได้รับต่ำเกินไป จึงอยู่ระหว่างการหาแนวทางเจรจา อย่างไรก็ตามยังมีเวลาที่จะหารือเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุป แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากยังได้ข้อสรุปที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการดำเนินงานที่จะทำให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จ และการเปิดให้บริการช้าลงจากแผนงานที่จะเปิดให้บริการภายในปี 68

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เมื่องานก่อสร้างต่อเติมความยาวรันเวย์แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โบอิ้ง B747, โบอิ้ง B777 และแอร์บัส A330 ขนาด 300-400 ที่นั่ง สามารถบินตรงไปยังประเทศในแถบยุโรป และแถบเอเชียได้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งทางอากาศของ จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันผู้โดยสารท่าอากาศยานตรัง ยังไม่กลับมาเท่าปกติในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 1,500-1,600 คนต่อวัน วันละ 10-12 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) ขณะที่ก่อนเกิดโควิด-19 ปี 62 ผู้โดยสารอยู่ที่กว่า 2,000 คนต่อวัน และมี 16 เที่ยวบินต่อวัน (ไป-กลับ) มีสายการบินให้บริการ 3 สาย ได้แก่ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินนกแอร์ โดยยังคงมีให้บริการเพียงเส้นทางเดียวคือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ตรัง.