เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 17 ก.ค. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.ค. นี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดหารือวิป 3 ฝ่าย โดยตนจะเข้าไปเรียนให้ทราบว่าทาง ส.ว. มีความเห็นทางกฎหมาย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 กำหนดชัดเจนว่าญัตติเสนอซ้ำไม่ได้ เว้นแต่เสนอสมัยประชุมหน้า ถ้าญัตติเป็นแบบเดิมเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะด้วย 8 พรรคร่วม หรือ 7 หรือ 9 พรรคร่วมเป็นผู้เสนอ ก็ถือว่าสาระไม่เปลี่ยนแปลง

“ดังนั้น ถ้าวันที่ 19 ก.ค. นี้ ยังเสนอแบบดังกล่าวคงต้องมีการอภิปรายกันว่าดำเนินการไม่ได้ เพราะเกรงว่ารัฐสภาจะดำเนินการขัดต่อกฎหมาย และถ้าโหวตนายพิธาผ่าน ก็จะถูกร้องว่าการกระทำนั้นไม่ชอบ ยืนยันอีกครั้งว่าญัตติที่เสนอเดิมให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าตกไปแล้ว แต่ถ้าเสนอชื่อคนอื่นถือว่าเป็นญัตติใหม่” นายสมชาย กล่าว

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันที่ 19 ก.ค. นี้ คงจะมีประเด็นคำถามที่เกิดขึ้น หากมีการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำอีกครั้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และข้อบังคับการประชุมการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ระบุชัดไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำได้ ดังนั้น ตนต้องแสดงจุดยืนให้ชัด ส่วนจะมีความเห็นอื่นๆ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องไปอภิปรายพิจารณาในสภา

“ในส่วนจุดยืนส่วนตัวของผม ก็เห็นว่าควรต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 คือแต่พรรคการเมืองที่เสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ มาแล้ว แต่ละพรรคต้องเรียงหรือเสนอให้ครบถ้วน หากไม่มีใครเสนอแล้ว หรือไม่มีทางออกที่จะเลือกนายกฯได้ ก็จะใช้ก๊อก 2 ใช้เสียงเสนอกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ถ้าเห็นชอบที่จะไม่ใช่บทบัญญัติในส่วนนี้ ก็ใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อเลือกคนนอกต่อไป แต่ในชั้นต้นต้องให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ตามที่ได้แจ้งความจำนงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” นายเสรี กล่าว.