รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งกับ ตลท. ว่าความคืบหน้าเรื่องการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ขยายผลเพิ่มเติม รวมถึงการขอขยายระยะเวลาครั้งที่สอง และความคืบหน้าเกี่ยวกับ แนวทางการดำเนินการของบริษัท กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ว่า จากการที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัทและบริษัทย่อยที่สำคัญทั้งหมด บริษัทจึงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจปกติของกลุ่มบริษัท แม้ว่าไม่ได้ทำให้กลุ่มบริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมด แต่ทำให้เกิดข้อจำกัดต่างๆ อีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าและลูกค้า การสรรหาบุคลากร (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้บริหาร และพนักงานในตำแหน่งสำคัญ) เพื่อเข้ามาบริหารกิจการ และแก้ไขปัญหาของกลุ่มบริษัท การลาออกของช่างฝีมือ
การดำเนินธุรกิจของในกลุ่มบริษัทจึงขาดความต่อเนื่องและมีการหยุดชะงักลงอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ในการดำเนินการขอให้ ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูล ดังนั้นเพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่ ก.ล.ต. ให้ขยายผลเพิ่มเติม จึงยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ขยายเพิ่มเติม ดังนี้ บริษัทจึงได้ยื่นหนังสือขอขยายระยะเวลา เพื่อดำเนินการในส่วนนี้เป็นครั้งที่สอง ไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2566 และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรณี STARK บริษัทยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ โดยกำลังดำเนินการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารในส่วนที่เหลือเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว ประมาณร้อยละ 75 (จากเดิมร้อยละ 60) แต่ประสบปัญหาในการขอรายการเดินบัญชี (bank statement) จากบางธนาคารเนื่องจากเอกสารที่ได้รับมาไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารแจ้งว่า ธนาคารสามารถเปิดเผยข้อมูลใน รายการเดินบัญชีในรูปแบบเดียวเท่านั้น และไม่สามารถให้ข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ บริษัทและผู้สอบบัญชี จึงต้องใช้เวลาอย่างมากในการตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว
2. บริษัทย่อย รายบริษัท เฟล้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) แม้ว่าบริษัทจะได้ดำเนินการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขายเพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ แต่เนื่องจากมีปริมาณเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบเอกสารสำหรับปี 2565 มีความคืบหน้ามากกว่าร้อยละ 75 (จากเดิม ร้อยละ 60) โดยบริษัทอยู่ระหว่างการทยอยจัดเตรียมและนำส่งเอกสารส่วนที่เหลือ ให้แก่ผู้สอบบัญชี ควบคู่ไปกับการรวบรวมชุดเอกสารประเภทเดียวกัน สำหรับปี 2564
3. บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด (ADS) และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) ผู้สอบบัญชีได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของ ADS แล้วประมาณ ร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 30) และตรวจสอบข้อมูลของ TCI แล้วประมาณร้อยละ 50 (จากเดิมร้อยละ 20) ของข้อมูลทั้งหมด ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติใน TCI เพิ่มเติม ผู้สอบบัญชีจึงอาจจะต้องขยายขอบเขตในการตรวจสอบเพิ่มเติม บริษัทจึงต้องจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ ดังกล่าว และคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าว
ส่วนแนวทางการดำเนินการกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ เนื่องจากการอายัดทรัพย์สิน บริษัทจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถดำเนินการใด ๆ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการยากที่บริษัทจะดำเนินการเพิ่มทุน หรือพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท และบริษัทยังอาจไม่สามารถที่จะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างทุนและโครงสร้างหนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้อีกต่อไป
บริษัทจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการผ่อนผันให้ กลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินและกิจการใดที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทต่อไปได้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย