เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา (ส.ว.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และ 10 พรรคขั้วรัฐบาลเดิม เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. นี้ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น พบว่า ทีมของพรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคได้เดินเข้าห้องประชุม ส่วน ส.ว. ได้แก่ นายสมชาย แสวงการ และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ที่เป็นตัวแทนกรรมการประสานงานจากฝั่งวุฒิสภา โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ทีม ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว. ต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มและทักทายกันตามปกติ

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับที่ประชุมว่า ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างไร ทำให้การประชุมเรียบร้อย การประชุมการอภิปรายและการนับคะแนนได้แล้วเสร็จก่อนเวลาถึง 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ดีของการเริ่มประชุมรัฐสภาสมัยนี้ ทั้งนี้การประชุมไม่เสร็จสิ้นเพราะไม่ได้ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เสร็จสิ้น เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญบริหารประเทศต่อไป จึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 19 ก.ค. นี้

ต่อมาเวลา11.45น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วุฒิสภา (ส.ว.) 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และ 10 พรรคขั้วรัฐบาลเดิม ที่มีประเด็นสำคัญคือจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐสภา วาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. นี้ ได้หรือไม่ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างว่า จะต้องวินิจฉัยตามข้อบังคับฯ ที่ 41 หรือไม่ หรือจะวินิจฉัยตามข้อบังคับรัฐสภาว่าด้วยการเลือกนายกฯ หมวด 9 ที่ไม่ใช่ญัตติทั่วไป ดังนั้นจะขึ้นอยู่กับการประชุมวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ที่จะต้องดูหน้างาน และฟังเสียงของสมาชิก

เมื่อถามว่า จะต้องมีการขอมติที่ประชุมใช่หรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประธานจะชี้ขาดได้ต่อเมื่อได้ฟังคำอภิปรายอย่างครบถ้วนของสมาชิก ก่อนที่จะสรุปแล้วมีคำวินิจฉัย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ต้องรอการอภิปรายในที่ประชุมพรุ่งนี้ คาดว่าคงจะอภิปรายไม่ยาวจนเกินไป ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็มีการเสนอให้มีการอภิปรายเป็นเวลา 2 ชั่วโมง น่าจะเหมาะสม

เมื่อถามว่า ท้ายที่สุดจะต้องมีการลงมติ หรือใช้คำวินิจฉัยของประธานตัดสินได้เลย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ต้องดูข้อมูลหน้างาน ว่าตรงตามที่คิดว่าจะต้องให้ประธานวินิจฉัย หรือจะมีการลงมติ

เมื่อถามถึงข้อเสนอการงดเว้นใช้ข้อบังคับ จะเป็นแนวทางหนึ่งหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ ต้องมีการเสนอ และมีมติที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายไม่มีใครพูดถึง เพราะหากยกเว้นข้อบังคับแล้ว จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกฯ มีไม่กี่ประเด็น ประเด็นสำคัญคือต้องมีการเลือกนายกฯ ให้ได้ จึงคิดว่าไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ

เมื่อถามว่าหากสมาชิกส่วนใหญ่มีการลงมติว่าเป็นญัตติตามข้อบังคับฯ ที่ 41 แล้วสามารถเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธา จะพิจารณาต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้าม ส่วนจะมีการเสนอชื่อนายกฯ คนอื่นที่ไม่ใช่นายพิธาได้เลยหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่ข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม

ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีว่า ยังไม่ได้มีการบรรจุในระเบียบวาระ อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่สภา ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ และชื่อผู้เสนอ ซึ่งในวันที่ 19 ก.ค. นี้ จะต้องดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน เมื่อข้อกฎหมายที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เข้าไปก็ต้องบรรจุ หากเลือกนายกรัฐมนตรีจบแล้ว ก็พิจารณาได้เลย แต่ถ้าหากเลือกนายกฯ ยังไม่จบ กระบวนการบรรจุระเบียบวาระแก้ไข มาตรา 272 ก็ต้องอยู่ในลำดับ คือหลังจากวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เสนอมาก่อน.