เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 ในปี 2568 (UCCN Annual Conference 2025) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการประชุมนี้ จะเป็นเวทีนานาชาติสำหรับการหารือและแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเป็นนโยบายเพื่อดำเนินการพัฒนาเมือง ตามเป้าหมายวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ขององค์การสหประชาติ (ยูเอ็น) และปฏิญญา Mondiacult 2022 ทั้งนี้ ภายหลังได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการจัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กำหนด และเสนอไปยังองค์การยูเนสโกภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 จากนั้นจะมีกระบวนการคัดเลือกโดยพิจารณาเอกสารการนำเสนอ การลงคะแนนเสียงผ่านช่องทางออนไลน์ และประกาศผลเมืองที่ได้รับพิจารณาเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือน ต.ค. 2566 ต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า จ.เชียงใหม่ ได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (สศส.) ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะเป็นสถานที่การจัดประชุม อีกทั้งเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีเส็บ สศส. รวมถึงคณะทำงาน ในการจัดทำข้อมูลเพื่อยื่นประมูลสิทธิการเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีข้อสรุปช่วงเวลาที่จะจัดการประชุมประจำปี UCCN ครั้งที่ 17 จะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2568 ระยะเวลา 7 วัน ภายใต้แนวคิด “Enhancing Multicultural Transformation” เชื่อมอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมเพื่อการต่อยอด สำหรับความคาดหวังต่อการที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพครั้งนี้ คือเป็นโอกาสในการส่งเสริมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการอนุรักษ์และดำรง คงอยู่ ต่อยอดวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลกผ่านการนำเสนอเมืองเชียงใหม่ในมิติต่างๆ ทั้งศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กิจกรรมภายในการประชุมจะมีกลุ่มย่อยทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ หัตถกรรมและศิลปพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ วิทยาการอาหาร วรรณกรรม มีเดีย อาร์ต และดนตรี รวมทั้งมีการทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมเมืองและสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีของเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนการสร้างเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกของไทยในภาพรวม นอกจากนี้ การจัดประชุมจะบูรณาการกับเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยทั้ง 5 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต (สาขาอาหาร) กรุงเทพมหานคร (สาขาการออกแบบ) สุโขทัย (สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน) และเพชรบุรี (สาขาอาหาร) รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่มีความประสงค์จะเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก อาทิ น่าน สุพรรณบุรี นครปฐม เชียงราย และพัทยา