เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลัง พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารและพรรค พปชร. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

จากนั้น พล.อ.ประวิตร มีสีหน้านิ่ง ปฏิเสธตอบทุกคำถาม ซึ่งตลอดทั้งวัน ตั้งแต่กรรมชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนถึงการประชุมพรรค พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถามกรณีมีชื่อชิงนายกรัฐมนตรี รวมถึงแนวทางการโหวตเลือกนายกฯ ในรอบที่สอง และหากพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. โดยขึ้นรถเดินทางออกจากพรรคทันที

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการประชุมสภาในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ถึงกรณีหากมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง จะทำได้หรือไม่ และจะผิดข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมร่วมรัฐสภา คงจะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวและพรรค พปชร. จะร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย และจะมีการลงมติ ซึ่งแนวทางของพรรคต่อเรื่องนี้ มองว่าทำไม่ได้ แต่ก็ต้องฟังในที่ประชุมว่า มีเหตุผลอื่นหรือไม่ ทั้งนี้หากไม่สามารถโหวตนายพิธาได้ เพราะเป็นการเสนอชื่อซํ้า โดยหลักแล้วคงมีสองแนวทางคือ 1.ปิดประชุม และนัดประชุมใหม่ 2.เสนอชื่อบุคคลอื่นให้ไม่ซ้ำกับครั้งที่แล้ว โดย พล.อ.ประวิตร ได้ฝากในที่ประชุม ส.ส. ของพรรค ว่าให้ ส.ส. เข้าประชุมพร้อมเพรียงกัน ให้รับผิดชอบต่อหน้าที่ เพราะนอกจากเรื่องนี้ สภาก็จะมีการหารือปัญหาในพื้นที่ ที่อยากให้ ส.ส. นำมาหารือต่อสภาเพื่อแก้ปัญหา โดยยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เพราะการจัดตั้งรัฐบาล เวลานี้เป็นเรื่องของ 8 พรรคที่มีเอ็มโอยูร่วมกัน ต้องให้เขาทำไปให้สุดจนจบว่า จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ จากนั้นค่อยมาคุยกันว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร พรรค พปชร. จึงยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการจัดตั้งฐบาล ต้องเคารพมติของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจัยที่ทำให้โหวตไม่ซ้ำ หมายถึงการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า มีหลายเหตุผล อาจจะขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล มีกลุ่ม ส.ว. บางกลุ่มที่จะโหวตให้ ซึ่งตนอธิบายไม่ได้ เพราะอาจจะมีคะแนนที่เปลี่ยนแปลงหรือมีปัจจัยที่ทำให้ไม่เหมือนเดิม.