ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ Think café ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้วยฝีมือช่างชั้นเอกเมืองเพชรบุรี โดยมี ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดี มรภ.เพชรบุรี ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผอ.สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บุคลากรและช่างปูนปั้น เข้าร่วม

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชพระดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โครงการแหลมผักเบี้ย ทรงมีพระราชดำรัสแก่นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมสืบสานและอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ให้คงอยู่ตลอดไป

มรภ.เพชรบุรี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และราชวงศ์จักรี ที่ทรงปกครองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขด้วยทศพิธราชธรรมหรือธรรม 10 ประการ ของพระมหากษัตริย์ จึงดำเนินศูนย์เรียนรู้เพื่อเทิดพระเกียรติฯ โดยได้ริเริ่มการจัดทำปูนปั้นจากช่างฝีมือชั้นเอก 10 ท่าน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่เยาวชนและเผยแพร่งานศิลปะงานปูนปั้นเมืองเพชรให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 และสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนกันยายน 2565 เป็นผลงานของช่าง 10 ท่าน 11 ชิ้นงาน ได้แก่ ช่างสาโรจน์ บุญประเสริฐ ชื่อผลงาน ทานํ (การทำทาน) 2. ช่างชัชวาลย์ สหัสสพาศน์ ชื่อผลงาน สีลํ (การรักษาศีล) 3. ช่างภาณุพัฒน์ วิบูลรุ่งเรือง ชื่อผลงาน ปริจาคํ (บริจาค) 4. ช่างเอกลักษณ์ มิตรรัน ชื่อผลงาน อาชฺชวํ (ความซื่อตรง) 5. ช่างสมบัติ พูลเกิด ชื่อผลงาน มทฺทวํ (ความอ่อนโยน) 6.ช่างภิญโญ บุญเกิด ชื่อผลงาน ตปํ (ความประพฤติตบะ) 7.ช่างสำรวย เอมโอษฐ ชื่อผลงาน อกฺโกธํ (ความไม่โกรธ) 8.ช่างสมเจต อินฉิม ชื่อผลงาน อวิหึสญฺจ (ความไม่เบียดเบียน ข่มเหง) 9.ช่างเฉลิม พึ่งแตง ชื่อผลงาน ขนฺติญจ (ความอดทนเข้มแข็ง ไม่ท้อถอย) 10.ช่างสมชาย บุญประเสริฐ ชื่อผลงาน อวิโรธนํ (ความไม่คลาดธรรม) ผลงานภาพรวมทศพิธราชธรรม “พุทธพจน์”

นอกจากจะเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว ยังเป็นการเชิดชูภูมิปัญญาสกุลช่างเมืองเพชร (งานปูนปั้น) เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสกุลช่างเมืองเพชรที่ทรงคุณค่า และเปิดให้ผู้ที่สนใจ นักเรียน นักศึกษา เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนเชิดชูความรู้ ความสามารถของช่างเมืองเพชร ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลัง สร้างค่านิยม ปลูกจิตสำนึก ให้คงไว้ซึ่งวิถีอันดีงามและสืบสานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป