ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปัญโญ เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง เจ้าคณะตำบลทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผวจ. เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในงานพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ประจำปี 2566 มหากุศลเพื่อสืบสานปณิธานเป็นพระราชกุศล ให้กับผู้ยากไร้ทุกคน อย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ สวดมนต์ เจริญสมาธิ การประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข ให้กับนาคจำนวน 19 นาค ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมี เจ้าอธิการอุดม ฑีฆายุโก ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เจ้าคณะตำบลทุ่งคอก เจ้าอาวาสวัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการประทวน ยุตตธัมโม วัดทุ่งคอก เป็นพระกรรมวาจา พระปลัดสรศักดิ์ สมนฺตปาสาทิโก วัดศรีเฉลิมเขต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ภายในพระอุโบสถวัดหนองวัลย์เปรียง

ทั้งนี้ การจัดงานพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ประจำปี 2566 ได้รับการสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวจากพุทธศาสนิกชน และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ใจบุญ ได้ร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์เป็นเจ้าภาพเครื่องอัฐบริขาร และรับเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารพระบวชใหม่ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก นายรัฐพล ชีวโรจน์ณรงค์ น.ส.สุวรรณา ชีวโรจน์ณรงค์ ห.จ.ก. เจริญชัยค้าวัสดุก่อสร้าง เจ้าภาพถวายปัจจัยบวชนาคหมู่ นายชัชพัชร์ เดชะเกษมสุข เป็นเจ้าภาพเครื่องอัฐบริขาร 8 นายสมพร ใจซื่อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.ทุ่งคอก นายธนาคม ขจีรัตน์วัฒนา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ทุ่งคอก นายสุรพล ตันกสิกิจ นายก อบต.ทุ่งคอก รับเป็นเจ้าภาพโรงทานเลี้ยงอาหาร และน้ำดื่ม

พระครูใบฎีกาสุรพล กล่าวว่า กว่า 30 ปี วัดหนองวัลย์เปรียง ก่อนวันเข้าพรรษาของแต่ละปี ได้จัดโครงการบรรพชาอุปสมบท บวชนาคหมู่ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กุลบุตร และผู้ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปี ผู้ที่ต้องการบรรพชาอุปสมบท เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะมาบวชต้องไม่เป็นผู้ต้องโทษหนีคดี หรือเป็นผู้ที่ติดยาเสพติด โดยในช่วงแรกๆ มีคำถามว่า วัดหนองวัลย์เปรียงเอาเงินมาไหน คำตอบคือรายได้ส่วนหนึ่ง จากปัจจัยส่วนตัวที่ออกไปบรรยายธรรมเทศนาตามสถานที่ต่างๆ ร่วมกับทางคณะกรรมการวัด พุทธศาสนิกชน และชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ร่วมกันเสียสละบริจาคทรัพย์ จนสามารถพูดได้ว่าวัดหนองวัลย์เปรียงแห่งนี้ คือ ศูนย์รวมจิตใจ และเป็นที่พึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง ให้สมกับต้นแบบคำว่า บวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน ที่เข้าด้วยกันได้อย่างมีความสุข ถือว่าเป็น 3 เสาหลักที่สำคัญ ที่สามารถค้ำจุนสังคมไทยอย่างมั่นคง